เป็น “โรคหัวใจ” ก็ออกกำลังกายได้ พร้อมข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง “หัวใจ” จะมีการทำงานมากกว่าปกติซึ่งดูอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจ แต่ที่จริงแล้วไม่เป็นอย่างที่คิด

ใครที่เป็นโรคหัวใจ คงมีความกังวลว่า จะสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ และจะมีผลกระทบอย่างไรกับร่างกายหรือเปล่า เพราะว่าการออกกำลังกายทุกครั้ง ก็คือ การที่หัวใจของเรากำลังทำงานมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนที่เป็นโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป แต่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ และปรึกษาแพทย์
วันนี้  "นิวมีเดีย พีพีทีวี" จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงการเกิดโรค และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ต้องการออกกำลังกาย 

เคล็ดไม่ลับ!! 3 อ. ดูแล "หัวใจ" ช่วงล็อกดาวน์

โรคหัวใจ ใครว่าไกลตัว?

“โรคหัวใจ”
โรคหัวใจ (Heart Disease) คือ โรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ
1.ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว อายุ และเพศ
2.ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ มักจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยง เช่น การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด รวมไปถึงน้ำหนักตัว ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

 

ข้อปฏิบัติทั่วไปสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่ต้องการออกกำลังกาย
- เริ่มต้นออกกำลังกายควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ก่อน เพื่อประเมินสภาพของร่างกาย โรคแทรกซ้อน ติดตามการเต้นของหัวใจ การให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้อาการ สัญญาณเตือนภัย 
- กำหนดความแรงของการออกกำลังกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ ทดสอบทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย เพื่อหาความเหมาะสมให้
- การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นแบบแบบแอโรบิค เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
- งดออกกำลังกายหากมีอาการไข้ ท้องเสีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง และควรปฏิบัติต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3–5 วัน เวลาเดียวกันทุกวัน
- ไม่ออกกำลังกายหลังอิ่มอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 1 ½ - 2 ชั่วโมง
- ควรออกกำลังกายในสถานที่ที่ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
- อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการเสียน้ำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังกายออกกำลังกาย
- ไม่กลั้นหายใจขณะออกกำลังกาย หายใจปกติ ไม่ควรหายใจติดขัดและควรจะพูดคุยได้ไม่เหนื่อยหอบ
- Warm-Up และ Cool – Down ก่อนหยุดการออกกำลังกายเสมอ
- สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้และรองเท้าที่สวมใส่สบาย
- มียาพ่นหรือยาอมใต้ลิ้นขยายหลอดเลือดหัวใจติดตัว
- ควรมีเพื่อนร่วมออกกำลังกายด้วย
 

คอนเทนต์แนะนำ
รู้จักเครื่อง ECMO  พยุงหัวใจและปอดให้ผู้ป่วยโควิด-19
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน เจ็บหน้าอกแบบไหนเสี่ยง?

 


สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจการออกกำลังกายส่งผลดีต่อสมรรถภาพทางกายต่อตัวผู้ป่วยเอง เพราะร่างกายปรับตัวในการนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดอาการต่าง ๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันและควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของไขมันในเลือด เพิ่มความสามารถในการละลายลิ่มเลือด และปรับปรุงการทำงานเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด

 

การออกกำลังกายจึงส่งผลดีไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป อีกทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจดีขึ้นอีกด้วย โดยแนะนำให้อยู่ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด
 

ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ