“เส้นด้าย”เตือนปัญหา“ฮอสพิเทล”ทยอยปิดตัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นสัญญาณที่การติดเชื้อโควิด-19 กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง หนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครหาเตียงอย่างกลุ่มเส้นด้าย เปิดเผยว่า 5 วันของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อโทรมาขอให้ช่วยหาเตียงสะสมนับจาก 1 ม.ค.แล้วกว่า 400 เตียง และที่น่าสนใจพบว่า จำนวนไม่น้อยมีประวัติติดเชื้อจากสถานบันเทิงหลังเที่ยวช่วงปีใหม่ ทีมข่าวพีพีทีวีติดตามการทำงานของกลุ่มเส้นด้าย พบว่ามีความวุ่นวาย ต้องรับสายตลอดทั้งวัน

เป็นสัญญาณที่การติดเชื้อโควิด-19 กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้ง หนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครหาเตียงอย่างกลุ่มเส้นด้าย เปิดเผยว่า 5 วันของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อโทรมาขอให้ช่วยหาเตียงสะสมนับจาก 1 ม.ค.แล้วกว่า 400 เตียง และที่น่าสนใจพบว่า จำนวนไม่น้อยมีประวัติติดเชื้อจากสถานบันเทิงหลังเที่ยวช่วงปีใหม่  ทีมข่าวพีพีทีวีติดตามการทำงานของกลุ่มเส้นด้าย พบว่ามีความวุ่นวาย ต้องรับสายตลอดทั้งวัน

เปิดใจอาสาเส้นด้าย"ภูมิใจช่วยผู้ป่วยโควิด-19"

“แด๊กซ์ Rock Rider” ติดเชื้อโควิด เลื่อนงานทั้งหมด พร้อมแจ้งไทม์ไลน์

นายกีรติศักดิ์ กาญจนจันทร์ อาสาสมัครกลุ่มเส้นด้าย ทำหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ พูดคุยเพื่อแจ้งขั้นตอนการดำเนินการให้กับผู้ติดเชื้อโควิดที่ติดต่อมาขอให้ช่วยหาเตียงรักษา โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นคนที่ 4 ตั้งแต่เธอมาทำงานได้เพียงครึ่งชั่วโมงของวันนี้เท่านั้น ยังไม่รวมกับเพื่อนอาสาสมัครอีก 3 คน ที่ผ่านไป 1 ชั่วโมง มีเคสผู้ป่วยเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 คน เกือบ 100% พบประวัติติดเชื้อมาจากการที่เที่ยวสถานบันเทิงช่วงปีใหม่

เจ้าหน้าที่คนนี้บอกว่าในฐานะคนที่ทำงานหน้างาน อยากให้หน่วยงานภาครัฐกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพราะแม้เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ว่าติดเร็วมาก ยอดผู้ติดเชื้อสะสมที่โทรมาขอเตียงกับกลุ่มเส้นด้ายตั้งแต่ปีใหม่นับจาก 1 มกราคม รวมทั้งหมด 400 คน แต่จัดหาเตียงได้เพียง 70 คนเท่านั้น

ด้านนายภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย เปิดเผยว่าสาเหตุที่จัดหาเตียงให้ได้น้อยเป็นเพราะ Hospitel ทยอยปิดตัวลง เนื่องจากเอกชนบางส่วนมองว่าขาดทุน รวมไปถึงโรงพยาบาลสนามก็ปิดทำการ ทำให้ภาระตกไปอยู่กับผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากเป็นแล้ว ต้องหาที่รักษาทันที ไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของสังคม โดยหากยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะหาที่รักษาไม่ได้ ซึ่งถือว่ากะทันหันมาก แต่ไม่ได้เหนือความคาดหมาย พร้อมเชื่อว่านี่กำลังเป็นสัญญาณเตือนว่าจะเข้าสู่การระบาดระลอก 5 เพราะที่ผ่านมา แม้ช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นมา โควิด-19 จะลดการระบาดลง แต่จากการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้ชุมชนพบว่าตัวเลขกลับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 10 วันก่อนเทศกาลปีใหม่

ขณะที่ทีมข่าวพีพีทีวีติดตามการทำงานของกลุ่มเส้นด้ายตลอดทั้งวัน พบว่าหลังจากที่คอลเซ็นเตอร์รับสายแล้ว ฝ่ายประสานจะดำเนินการเรื่องเอกสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปรับผู้ป่วยจากบ้าน เพื่อไปส่งตาม Hospitel ต่างๆ ซึ่งการส่งผู้ป่วยมีข้อจำกัดมากเนื่องจากวันนี้ (5ม.ค.64) มีรถที่ใช้ได้เพียง 2 คันเท่านั้น แต่การส่ง 1 คนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ชั่วโมง

หนึ่งในผู้ป่วยโควิด-19 ที่กลุ่มเส้นด้ายไปรับในวันนี้เป็นชาย อายุ 26 ปี อาศัยอยู่ย่านสาธุประดิษฐ์ เขาเปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีว่าตลอดเดือนธันวาคม ไม่เคยมีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ เนื่องจากไทม์ไลน์ชีวิตมีแค่ไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ย่านเลียบด่วนรามอินทราเท่านั้น แต่ว่าวันที่ 30 ธันวาคม เพื่อนร่วมงานชวนไปฉลองปีใหม่ที่ร้านบุฟเฟต์และไปต่อที่ร้านบาร์แห่งหนึ่ง ย่านราชเทวี รวม 10 คน คาดว่าน่าจะเป็นสาเหตุการติดเชื้อ

เพราะหลังจากนั้น วันที่ 2 มกราคม มีอาการไข้ 38 องศา  หนาวสั่น เลยไปซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจ ปรากฎว่าติดเชื้อ จึงสอบถามเพื่อนที่ไปด้วยกัน พบว่าใน 10 คนที่ไป มีคนติดเชื้อ 4 คน รอยืนยันผลอีก 1 คน ยอมรับว่ารู้สึกงง เพราะการติดเชื้อเกิดขึ้นรวดเร็ว ที่ผ่านมาดูแลตัวเองมาโดยตลอด รอดจากการติดเชื้อโควิดมาทุกระลอก และตนเองออกไปฉลองปีใหม่เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น

ผู้ป่วยโควิดคนนี้ บอกอีกว่าตอนนี้ไม่กังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด เพราะฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว มั่นใจว่าแม้ติดเชื้อแต่ก็ไม่รุนแรง แต่เป็นกังวลและรู้สึกผิดมากว่าคนที่บ้านจะได้รับเชื้อไปด้วย โดยบ้านที่อาศัยอยู่ประกอบไปด้วย พ่อแม่ อายุ 52 ปี และพี่ชาย อายุ 30 ปี ขั้นตอนการรักษาหลังจากนี้ แพทย์แจ้งว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอด และรักษาตามอาการ

จากปรากฎการณ์ที่สะท้อนผ่านการทำงานของกลุ่มเส้นด้าน เมื่อย้อนดูสถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม จากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่า ขณะนี้มีผู้ครองเตียง 5,873 คน จากทั้งหมด 31,701 เตียง หรือคิดเป็น 18 เปอร์เซนต์ ในจำนวนนี้พบว่า เตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง หรือ คนไข้หนัก  ประเภทเตียงไอซียูความดันลบ และห้องดัดแปลงความดันลบมีอัตราครองเตียงมากกว่า เตียงประเภทอื่น แต่ก็ยังมีเตียงว่างอีก 800 กว่าเตียง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า หากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอน เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรคคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่า ไทยจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันละ 30,000 คน ยืนยันว่า เตียงยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ เพราะศักยภาพเตียงทั่วประเทศรับผู้ป่วยได้ 50,000 คน น่าจะไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันการระบาดของเชื้อโอมิครอนในรอบนี้ กระทรวง จะเน้นการรักษาแบบ Home Isolation และการรักษาใน Community Isolation เป็นหลัก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย

ส่วนกรณีที่เพจของกลุ่มเส้นด้าย ออกมาโพสต์ว่า มีผู้ป่วยโทรติดต่อหาเตียงกว่า 3,000 สาย ทั้งที่ภาพรวมเตียงยังว่าง เกิดจากความเข้าใจผิดหรือไม่ นายแพทย์สมศักดิ์ อธิบายว่า พยายามเข้าใจกลุ่มที่เข้ามาช่วยเหลือ และคิดว่า ส่วนหนึ่งที่มีผู้ป่วยโทรหากลุ่มเส้นด้ายเยอะ เพราะหลายคนรู้จัก เนื่องจากเคยเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย และรู้จักกับผู้นำชุมชน แต่ในอีกมุมหนึ่งสายด่วน 1330 สปสช. มีคนโทรเข้ามาเพิ่มเป็นเท่าตัวเช่นกัน โดยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มี 4,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยที่โทรมาประสานเรื่องการรักษาเพียง 190 กว่าคน ที่เหลือโทรมาสอบถามอาการ หลังจากนี้¬ขอให้ประชาชนโทรมาที่สายด่วน 1330 สปสช. แทน   เพราะจะมีแพทย์ พยาบาลคอยประเมินอาการ พร้อมย้ำว่า กรมการแพทย์เปิดกว้าง ยินดีที่จะทำงานร่วมกันกับทุกกลุ่ม   เพราะเวลานี้ประเมินว่า โควิด-19 เข้าสู่การระบาดระลอก 5 แล้ว

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ