กรมวิทย์ เชื่อ “เดลตาครอน” เกิดจากปนเปื้อนตัวอย่าง ไม่ใช่ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สร้างความตกใจเป็นอย่างมาก หลังมีการรายงานพบเชื้อ ‘เดลตาครอน’ โดยนักวิจัยจากประเทศไซปรัส ซึ่งพบว่า เป็นการผสมกันระหว่างเชื้อเดลตา และเชื้อโอมิครอน ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากการตรวจสอบผ่านฐานข้อมูลจีเซท ซึ่งเก็บรวบรวมสายพันธุ์ไวรัสระดับโลก พบว่า กรณีดังกล่าวมีความเป็นไปได้ ที่จะเป็นเพียงการปนเปื้อนตัวอย่างของเชื้อโอมิครอน ไม่ใช่การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ใน 1 คน

ไซปรัสพบโควิดลูกผสม "เดลตาครอน"

วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม 2565 หมดเขต 31 มี.ค. 65

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับจีเซทล่าสุด พบประเทศไซปรัสส่งตัวอย่างเข้ามาในระบบจีเซ็ทจำนวน 24 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดมีการถอดรหัสพันธุกรรม ปรากฏเป็นเชื้อเดลตา และโอมิครอนจริง แต่กลับพบว่า เชื้อเดลตามีรหัสพันธุกรรม ของแต่ละตัวอย่างแตกต่างกัน ส่วนโอมิครอนรหัสพันธุกรรมเหมือนกันทุกตัวอย่าง ซึ่งตามหลักการแล้ว ถ้าหากเป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่จริง เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ จะต้องเหมือนกัน จีเซทจึงสรุปว่า ผู้ป่วยทั้ง 24 คนนี้ ติดเชื้อเดลตา

ส่วนสาเหตุที่เกิดกรณีแบบนี้ น่าจะเกิดจากการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอนในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด ไม่ใช่การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ใน 1 คน ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างน้อย

 

ขณะที่สถานการณ์โอมิครอนในไทย ขณะนี้พบโอมิครอน แล้ว 5,397 คน ใน 71 จังหวัด ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้อธิบายขั้นตอน แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนจำนวนมาก

โดยแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด  เริ่มจาก ประชาชน สงสัยติดเชื้อ ไปตรวจได้ที่หน่วยตรวจเชิงรุก หรือโรงพยาบาล เมื่อพบติดเชื้อ หน่วยตรวจเชิงรุกจะประเมินอาการให้ แต่สำหรับประชาชนที่ตรวจ ATK เอง เมื่อเป็นบวก ให้โทร 1330 หรือ แอดไลน์ สปสช. และจะมีการประเมินอาการให้ หากไม่มีอาการ หรืออาการน้อย เน้นไปอยู่ใน Home Isolation, Community Isolation

 

หากมีอาการ ดังต่อไปนี้ จะมีการส่งไปโรงพยาบาล 

 - ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชม.

- หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่

- ออกซิเจนในเลือด น้อยกว่า 94%

- โรคประจำตัวมีการเปลี่ยนแปลง (กลุ่ม 608)  เช่น อาการน้อย แต่อายุมาก มีโรคประจำตัว

- เด็ก ซึมลง ดื่มนม-ทานอาหารได้น้อยลง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อยู่ใน HI และ CI หากมีอาการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที สำหรับจำนวนวัน ที่รักษา ตอนนี้ อยู่ที่ระยะ 10 วัน

สำหรับเตียงสีเขียว ยังมีความจำเป็นต้องสำรองไว้ให้ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่อาการเปลี่ยนแปลง หรือกลุ่ม 608 เช่น ผู้สูงอายุ ที่จะต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด  ทั้งนี้สำหรับเด็ก 4 เดือน และ 8 เดือน ที่หาเตียงรักษาข้ามจังหวัดที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า จากกรณีนี้ ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่ง หากมีผู้ป่วยเด็กมาขอรับการรักษาให้รับผู้ป่วยไว้ก่อน อย่าให้ขับรถตระเวนหาโรงพยาบาลเอง และเมื่อรับมาแล้วให้ประสานกับเครือข่ายโรงพยาบาลที่ได้จัดตั้งไว้อยู่แล้ว เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ล่าสุดทั้งคู่ รักษาที่โรงพยาบาลเด็ก สถาบันสุขภาพแห่งชาติมหาราชินี เป็นผู้ป่วยอาการสีเขียว  

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ