จริงหรือโอมิครอนตัวปิดเกม โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายคนมีความหวังว่า สายพันธุ์โอมิครอน จะเป็นตัวปิดเกมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กัดกินโลกใบนี้มายาวนานร่วม 2 ปี จนท้ายที่สุดโรคนี้จะกลายเป็น โรคประจำถิ่นในที่สุด แต่อาจจะเร็วไปหรือไม่ที่จะมั่นใจแบบนั้นได้ หรือมีข้อมูล ปัจจัยสนับสนุนอะไรที่จะทำให้เป็นไปทิศทางที่ว่านี้ เรามาค่อยๆ ไล่เรียงกันทีละประเด็น

โรคประจำถิ่น คืออะไร?

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาช่วงที่เราเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 เราจะคุ้นเคยกับคำว่า Pandemic มาตลอด ซึ่งการระบาดนั้นมีถึง 4 ระดับ คือ Endemic (โรคประจำถิ่น) Outbreak (การระบาด) Epidemic (โรคระบาด) ซึ่งในส่วนของ Endemic (โรคประจำถิ่น) ในความหมายคือโรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น มีอัตราป่วยคงที่และสามารถคาดการณ์ได้ โดยขอบเขตของพื้นที่อาจเป็นเมือง ประเทศ หรือใหญ่กว่านั้นอย่างกลุ่มประเทศ หรือทวีป เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา

ศูนย์จีโนมเปิดข้อมูล "แสงสว่างปลายอุโมงค์" โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้

อัปเดต "ภาวะ Long COVID" ทั้งเกิดขึ้นใหม่และเป็นต่อเนื่อง หลังติดเชื้อโควิด-19

เมื่อการระบาดถึงขั้นสูงสุดของการระบาดแล้ว โรคเหล่านี้ อาจกลายเป็น โรคประจำถิ่น หรือโรคระบาดตามฤดูกาลของทุกประเทศ เช่น การสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ได้กลายเป็น โรคประจำถิ่น หรือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลของทุกประเทศทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำ เฉพาะพื้นที่นั้นๆ เชื้อก่อโรคลดความรุนแรง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จากการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อ มีระบบดูแลรักษาและควบคุมชะลอการระบาดได้อย่างดี มีอัตราป่วยคงที่ และสามารถคาดการณ์การแพร่กระจายเชื้อได้ 

โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น?

มุมมองของสาธารณสุขไทยและศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ

ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งพบว่า อาการของโอมิครอน ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกนี้ ประเทศไทยมีการติดเชื้อสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหมือนกับทั่วโลก เชื่อว่าจะบริหารจัดการให้เข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้ เนื่องจากตัวเชื้อมีความรุนแรงลดลง ประชาชนร่วมมือกันฉีดวัคซีนมากขึ้น

โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นต้องพิจารณาจากอะไร

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข  หลักการพิจารณาว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศใด หรือไม่ อย่างไร ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัย

1. เชื้อลดความรุนแรง (ปัจจุบันความรุนแรง อัตราป่วยตายโรคโควิด-19 ลดลงเหลือ เสียชีวิต ~ 1 ราย จากผู้ติดเชื้อ 1,000 ราย)

2. ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เช่น การฉีดวัคซีน การติดเชื้อก่อนหน้า

3.ประเทศนั้นๆ มีระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุม/ชะลอการระบาดได้อย่างดี (ตัวอย่างที่ดีในประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศ)

ดังนั้น โรคประจำถิ่น เป็นโรคที่เกิดขึ้นประจำเฉพาะบริเวณพื้นที่นั้น ๆ มีการแพร่กระจายและสามารถคาดเดาอัตราการติดเชื้อได้ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์

นพ.รุ่งเรือง  บอกด้วยว่า การที่โควิด 19 จะปรับเปลี่ยนเป็น “โรคประจำถิ่น” ได้หรือไม่ ไม่ใช่เกิดจากตัวเชื้อหรือระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนและประชาชนในการร่วมเดินหน้ารับมือให้ โควิด 19 สู่โรคประจำถิ่น เช่น การป้องกันตนเองสูงสุด มาตราการสำคัญ และรับการ)รับการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งระดับบุคคลและประเทศ

ขณะที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทย มีการติดเชื้อจากธรรมชาติไม่มาก ได้รับวัคซีนเชื้อตาย และสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ/หรือ วัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น ได้ผลดีเช่นกัน แม้จะเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่ขณะนี้เริ่มคงตัวและเริ่มลดระดับลง (จากโอมิครอน) แต่ผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องและหากเป็นเช่นนี้ต่อไป

 ไวรัสโคโรนา 2019 คงจะจบเกม (End game) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยมีเงื่อนไขสำคัญที่จะเร่งให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ภายในปีนี้คือ การฉีดวัคซีนให้กับประชากรในทุกประเทศทั่วโลก

หรืออาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกแบบนั้น?

นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของสหรัฐฯ  ออกมาบอกในมุมที่ต่างออกไปว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าการแพร่ระจายอย่างตรวจเร็วของสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้โควิด-19 เข้าสู่ระยะที่สามารถจัดการได้ง่ายขึ้นและสิ้นสุดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเตียงในโรงพยาบาลยังเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19 นักเรียนยังคงต้องเรียนแบบออนไลน์ ระบบการดูแลสุขภาพบางแห่งยังขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่าที่เคยขณะเดียวกันทั่วโลกยังคงอยู่ในระยะแรกของการแพร่ระบาด หรือ จุดพีคของการระบาด นอกจากนั้นยังมีคำถามสำคัญว่า สายพันธุ์โอไมครอน “อาจส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันหมู่อย่างมีนัยสำคัญรวมถึงจะทำหน้าที่เป็นวัคซีนตามธรรมชาติอย่างที่ทุกคนคาดหวังหรือไม่ เพราะอาจมีเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ๆ อุบัติขึ้นอีก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับ ยังไม่รู้คำตอบว่าจะจบลงอย่างไร

เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่าการระบาดใหญ่นี้ยังไม่สิ้นสุด โอมิครอนแพร่ระบาดไปทั่วโลกด้วยความเร็วที่น่าตกใจ มีรายงานผู้ป่วย 18 ล้านคนทั่วโลกในสัปดาห์เดียว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ป่วยโอมิครอนจะทุบสถิติและมีอัตราเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลเต็ม เช่นเดียวกับ ออสเตรเลียและเยอรมนี แม้ว่าโอมิครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าก็ตาม

ยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุด และขอเตือนถึงการตั้งสมมุติฐานผิดๆ ที่ว่า เชื้อโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยลง จึงทำให้อันตรายจากไวรัสชนิดลดลงนี้  อย่าเข้าใจผิดเพราะโอมิครอนทำให้ผู้คนต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิต แม้จะเป็นกรณีที่อาการไม่หนัก แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยท่วมท้นโรงพยาบาลได้

สอดคล้องกับ แคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวว่า (11 ม.ค.65) ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากและไวรัส พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นเพราะการที่จะเป็นเช่นนั้นการแพร่ระบาดจะต้องมีเสถียรภาพและสามารถคาดเดาได้

“ มันอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นถ้าสามารถหยุดยั้งได้ภายในปี 2565 แต่นั้นคงเป็นไปได้ยากสักหน่อย” แคทเธอรีน กล่าว

หลายประเทศหาวิธีอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อก้าวไปสู่โรคประจำถิ่น

นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโอมิครอน ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลให้การรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นาดิม ซาฮาวี รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของอังกฤษ  ระบุว่า หวังว่าประเทศอังกฤษจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่จะแสดงให้โลกเห็นว่า คุณเปลี่ยนจากการระบาดใหญ่ไปสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างไร โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีน วัคซีนบูสเตอร์โดส และการวิจัยพัฒนายาต้านไวรัส

ท้ายที่สุดแล้ว คงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า โควิด-19 จกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ในเร็ววันนี้ หรือ ปีนี้ (2565) หรือไม่ สายพันธุ์โอมิครอนจะเป็นตัวปิดเกมจริงหรือไม่ แต่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนคือ ยิ่งโรคนี้กลายเป็น โรคประจำถิ่น ได้เร็วแค่ไหน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การเดินทาง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน

อนามัยโลก เบรกตั้งโควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" เหตุคนไม่ฉีดวัคซีนยังอันตราย

เหตุใด สธ. ถึงคาดการณ์ "โควิด" จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ