10 ข้อที่พ่อแม่ควรรู้ ก่อนฉีดไฟเซอร์เด็ก 5-11 ปี มีอะไรบ้าง?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




10 ข้อที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรรู้ ก่อนอนุญาตให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก อายุ 5-11 ปี ดีเดย์ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อาการข้างเคียง เด็กมีโรคประจำตัวฉีดได้หรือไม่?

หลังจากที่วัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด ไฟเซอร์ สำหรับฉีดให้เด็ก อายุ 5-11 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดเผยไทม์ไลน์แผนการเตรียมความพร้อมข้อมูลให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ เริ่มฉีดวันแรก 1 กุมภาพันธ์ นี้ รวมจำนวนประมาณ 5 ล้านคน นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ให้ชุดข้อมูลความรู้ ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง และสิ่งที่ผู้ปกครองทั่วไปควรทราบ ก่อนอนุญาตให้เด็กฉีดวัคซีนไฟเซอร์ พีพีทีวี นิวมีเดีย รวบรวมมา 10 ข้อ ดังนี้

กางไทม์ไลน์ ศธ. ฉีด "ไฟเซอร์" เด็ก 5-11 ปี ปักเข็มแรก 1 ก.พ. เข็ม 2 วันที่ 26 ก.พ.

" ไฟเซอร์ " เด็กกับผู้ใหญ่ ใช้คนละชนิดกันให้สังเกตที่ฝา

1. วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 5-11 ปี (ไม่เกิน 12 ปี : 11 ปี 11 เดือน 29 วัน) ฝาสีส้ม ล็อตแรก 3 ล้านโดสถึงไทยเมื่อ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือทยอยส่งทุกสัปดาห์จนครบ 3.5 ล้านโดส ภายในไตรมาสแรก

2. วัคซีนไฟเซอร์เด็ก ฉีดคนละ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม) 1 ขวดฉีดได้ 10 คน เก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้ 10 สัปดาห์ แต่หลังเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง 

3. เด็กทั่วไปฉีดที่สถานศึกษา ฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค (มีประมาณ 9 แสนคน) ให้ฉีดที่โรงพยาบาล 2 เข็ม ระยะห่าง 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจกุมารแพทย์ โดย7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคอ้วน, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ, เบาหวาน, โรคพันธุกรรม รวมถึงกลุ่มอาการดาวน์, เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า ย้ำ การฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครอง

4.  แม้เด็กที่ติดโควิด 19 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แต่จำเป็นต้องฉีด โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต และลดภาวะ MIS-C (กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก)

รพ.นพรัตนราชธานี เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 4 ผ่านเครือข่ายมือถือ เริ่ม 27 ม.ค. 65

5. ผลข้างเคียงหลังการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี จากข้อมูลสหรัฐอเมริกาที่ฉีด 9 ล้านคน อาจพบอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการไข้น้อยกว่าเด็กโต แต่อาการทั้งหมดหายได้ใน 2 วัน อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คน แต่ไม่รุนแรง และรักษาหายทั้งหมด

6. การคัดกรอง กุมารแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน หากกำลังมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย หรือโรคประจำตัวอาการรุนแรงขึ้น อาการไม่คงที่ จะให้ชะลอการฉีดออกไปก่อน

7. การลงทะเบียน โดยมีการเซ็นใบยินยอมของผู้ปกครองผ่านสถานศึกษา

8. การฉีดวัคซีน ควรจัดสถานที่มิดชิด มีม่านหรือฉากกั้น หรือฉีดในห้อง เพื่อลดผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กเล็กเมื่อเห็นเด็กถูกฉีดแล้วร้อง อาจเกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับการฉีดยากขึ้น

9. หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านแล้วไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรง 1 สัปดาห์ โดยปกติอาการข้างเคียงที่พบหลังฉีด ส่วนมากไม่รุนแรงและหายเองใน 1-2 วัน ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น, ปวดบวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด, ปวดหัว, ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย หรือหากเด็กมีอาการผิดปกติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ

10. หลังฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการผิดปกติที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อประเมินอาการ คือ กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และ กลุ่มอาการอื่น ๆ คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กินไม่ได้ ซึมหรือไม่รู้สึกตัว ซึ่งทั่วประเทศมีกุมารแพทย์ กว่า 2 พันคน สามารถประเมินอาการ ให้การรักษาและส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย

เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 4 ผ่านเครือข่ายมือถือ เริ่ม 27 ม.ค. นี้

อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว จะเริ่มฉีดวันที่ 31 มกราคม นี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นการฉีดเพื่อทดสอบระบบ โดยก่อนมาฉีดจะมีการโทรศัพท์ให้ข้อมูลผู้ปกครองและสอบถามความสมัครใจ หลังฉีดจะมี QR Code ให้ประเมินผลข้างเคียง และให้ความรู้การดูแลหลังฉีด หากมีผลข้างเคียงสามารถเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีผ่านทางไลน์และสายด่วน 1415 ซึ่งมีการจัดระบบทางด่วนในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแลต่อไป ส่วนทั่วประเทศจะเริ่มดำเนินฉีดวันแรก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ที่สถานศึกษา ซึ่งหากผู้ปกครองมีข้อข้องใจหรือมีคำถาม สามารถสอบถามได้ที่โรงเรียนต้นสังกัดทั่วประเทศ

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ