“แอลกอฮอล์ “สาเหตุหลักที่ทำให้ตับและตับอ่อนเกิดภาวะอักเสบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตับและตับอ่อน คือ อวัยวะที่หากเกิดความผิดปกติแล้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกายได้หลายอย่าง

การสังเกตอาการตัวเองว่าตับมีความผิดปกติหรือไม่เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะอาการของโรคตับหากยังไม่เป็นมากมักไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติออกมา รู้ตัวอีกทีเมื่อเป็นมากแล้ว อาการหรือความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มสังเกตได้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสื่อมของตับพอควรแล้ว เช่น อาการเบื่ออาหาร ผอม น้ำหนักลดลง นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือท้องผูก บางคนมีอาการเจ็บตับบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา ตามมาด้วยอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตขึ้นจากน้ำในช่องท้องที่มากขึ้น (ท้องมาน) ปัสสาวะสีเข้มแม้จะทานน้ำมากแค่ไหนก็ไม่จาง

 

 

"กาแฟดำ"…เครื่องดื่มที่ดีต่อ "ตับ" ลดเสี่ยงโรคร้าย มีผลดีระยะยาว

เตือนภัยนักดื่ม!! รู้ก่อน ทำร้าย "ตับ" จนพัง!!

 

ส่วนใหญ่โรคที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับตับเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ คือ

 

การดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูงกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณในการดื่ม หากดื่มในปริมาณสูงต่อเนื่องเพียง 2 สัปดาห์สามารถทำให้เกิดไขมันพอกตับ หรือดื่มต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีด้วยปริมาณตั้งแต่ 20 – 30 กรัมต่อวันในเพศหญิง หรือตั้งแต่ 40 – 50 กรัมต่อวันในเพศชาย ก่อให้เกิดภาวะตับแข็งได้

 

ผลร้ายของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับแตกต่างกันในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณของการดื่มและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่างจะมีผลเสียต่อตับมากกว่าดื่มพร้อมอาหาร หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าแอลกอฮอล์เข้าไปกระตุ้น ทำให้เกิดกระบวนการเป็นพิษต่อตับจนกลายเป็นไขมันพอกตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้อย่างไร

 

เนื่องจากในกระบวนการย่อยจะมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอน การดื่มที่ตับไม่สามารถย่อยสลายได้สมบูรณ์ ทำให้สารตกค้างในกระบวนการย่อยคั่งค้าง ซึ่งสารดังกล่าวนี้เป็นพิษทำลายเซลล์ตับ ขัดขวางการทำงานของตับ การสลายของไขมัน ทำให้ไขมันสะสมในเซลล์ตับเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าหยุดดื่ม ตับก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่หากยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อไปจนเซลล์ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจนซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดหรือแผลเป็นในตับ กลายเป็นตับแข็ง ตับวาย พัฒนาเป็นมะเร็งตับในระยะท้ายของโรค

 

พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมบางอย่างส่งผลต่อการสร้างอวัยวะตับไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องในการสร้างเอนไซม์ในตับ เกิดของเสียสะสมในเนื้อตับอย่างต่อเนื่องจนทำให้ตับเสื่อม ตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับได้

 

โรคประจำตัว โรคเลือด โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หากดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลให้การดำเนินของโรคลุกลามอย่างรวดเร็วขึ้น จนเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้เร็วขึ้น

 

การรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง อาทิ อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอัลฟาท็อกซิน หรืออาหารปิ้ง ๆ ย่าง ๆ เกิดความไหม้เกรียม อาหารที่มีส่วนผสมของดินปะสิว และอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ทำจากปลาน้ำจืดในภาคอีสานส่งผลให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ตับแข็ง และมะเร็งท่อน้ำดี

 

สูบบุหรี่  มีการวิจัยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวันมีโอกาสเกิดโรคตับอักเสบสูงมาก และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาตับแข็งเหมือนกับการดื่มเหล้าแอลกอฮอล์อีกด้วย 

 

ทานยา สมุนไพร หรือสารเคมีบางชนิด อาทิ ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอลในปริมาณมากเกินขนาด อาจก่อให้เกิดสารพิษในตับ อีกกลุ่มคือยาสมุนไพรที่สกัดมาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ทราบชนิดและปริมาณของตัวยาที่ผสมอยู่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงยาสมุนไพรที่ไม่มีที่มาที่ไป อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตับวายได้

 

ขณะที่สถานการณ์ของโรคมะเร็งตับอ่อนจะคล้ายกันกับมะเร็งตับ แต่ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อนจะมากกว่า และมักพบในระยะลุกลามแล้ว ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณหลังกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่หลักสองอย่างคือ ผลิตน้ำย่อยเพื่อใช้ในการย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน น้ำย่อยต่าง ๆ ที่ตับอ่อนผลิตนั้นจะถูกหลั่งออกมาที่ท่อน้ำดีส่วนปลาย ออกสู่ลำไส้เล็กเพื่อย่อยอาหารต่อไป หน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของตับอ่อน คือ การสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด

 

อย่างไรก็ตามแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติความเป็นมาของอาการป่วย รวมถึงประวัติคนในครอบครัว เป็นตัวช่วยคัดกรองว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือมีภาวะตับผิดปกติหรือไม่  ซึ่งหากอาการเพิ่งเป็นในระยะเริ่มต้น ก็สามารถรักษาตับให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ 

รวมให้ 33 จุดฉีดวัคซีนเข็ม 3 ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีที่ไหนบ้าง?

มาแล้ว! รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็ม 3 และ 4 ไฟเซอร์-โมเดอร์นา

ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ