เปิด 6 สุดยอดอาหารดีต่อหัวใจ


โดย BDMS Wellness Clinic

เผยแพร่




วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่มีความเร่งรีบ เคร่งเครียดกับการทำงานรวมถึงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ซึ่งแค่ออกกำลังกายอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของเรา ดังนั้นการรับประทานอาหารก็ถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรง

วันนี้มีเคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทุกเพศ ทุกวัยก็สามารถทำตามได้เพื่อให้เรามีหัวใจที่แข็งแรงและสุขภาพดี มาแชร์ให้ฟังกัน!

1. เลือกรับประทาน “ปลาทะเล” 
ควรเลือกรับประทานปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ปลาสวาย เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะปลาทะเลมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดแดง และช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันจากสัตว์ หรือ เนย ครีม ชีส

หวาน มัน เค็มมากไป "หัวใจอ่อนแอ" รสชาติถูกใจแต่ทำลายสุขภาพ

หยุดทุกความเสี่ยง หัวใจ "สูงวัย" สตรองได้แค่ดูแล

2. เลือกรับประทาน “ข้าวแป้งไม่ขัดสี ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง”
    เพราะอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และใยอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งต้ว ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต บัควีท รำข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ควินัว ลูกเดือย กราโนล่า เป็นต้น 

3. เลือกรับประทาน “ผักและผลไม้หลากสี” 
    เน้นรับประทานผักใบและผลไม้หลากสีหลากชนิด เพราะเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยบำรุงและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น สีเขียวจาก คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี, สีเหลืองส้ม จากฟักทอง แครอท มะละกอสุก, สีแดง จากมะเขือเทศ บีทรูท, สีม่วง จาก มะเขือม่วง มันม่วง ดอกอัญชัญ

4. เลือกรับประทาน “โปรตีนจากพืช”
    โปรตีนจากพืชมาจากถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง และ ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ ถั่ววอลนัต ถั่วพิสตาชิโอ ถั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึง ธัญพืชและเมล็ดพืช เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ควินัว ลูกเดือย เมล็ดเจีย เพราะนอกจากจะเป็นการลดไขมันอิ่มตัวจากการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว ถั่วที่เป็นแหล่งของโปรตีนจากพืชจะประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ช่วยบำรุงและลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ อย่าลืมเลือกเป็นถั่วอบ ไม่เติมเกลือ แทนถั่วทอด เพื่อไม่ให้ได้รับน้ำมันและเกลือเข้าไปในร่างกายมากเกินไป 

5. เลือกรับประทาน “ไขมันที่ดี”  
    เลือกไขมันที่ดีต่อสุขภาพในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า เป็นต้น เพราะไขมันดีมีส่วนสำคัญในการป้องกันและต้านโรคหัวใจ 

6. เลือกรับประทาน “สมุนไพรและเครื่องเทศ”
    เครื่องเทศเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพในกรณีที่อยากเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติอาหาร แทนการใช้เกลือ เครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูง และอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และเนื้อแปรรูปต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดในสมอง 


เพราะโรคหัวใจเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เราจึงต้องหมั่นดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น และอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยวางแผนป้องกันก่อนการเกิดโรค 

BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาและวิจัยเรื่องสุขภาพ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด Live longer, Healthier and Happier

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic)  ไลน์ : @bdmswellnessclinic or  https://lin.ee/rdIDv1A เว็บไซต์ : www.bdmswellness.com

รู้จักเครื่อง ECMO  พยุงหัวใจและปอดให้ผู้ป่วยโควิด-19

คลื่นแม่เหล็ก PMS ทางเลือกใหม่กระตุ้นเส้นประสาทแก้ “ปวด-เมื่อย-ชา”

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ