คลินิกปรับเกณฑ์ใหม่ "หนี้เสียก่อน 1 ก.ย. -เปิด 3 ทางเลือกผ่อนชำระ"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คลินิกแก้หนี้ปรับเกณฑ์ขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ขยายครอบคลุมลูกหนี้ที่เป็น "หนี้เสีย" ถึงสิ้นเดือนส.ค. พร้อมเปิด 3 ทางเลือกผ่อนชำระ มีผลตั้งแต่ 8 ก.ย.

โครงการคลินิกแก้หนี้ ปรับเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเปิดรับคนที่เป็นหนี้เสียถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และเปิดให้มีทางเลือกในการผ่อนชำระได้ 3 ทางเลือก ผ่อนนานสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าแม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย แต่การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่ทั่วถึง

ธปท.ไฟเขียวสถาบันการเงินตั้งบริษัทร่วมทุน ช่วยเหลือลูกหนี้

หนี้เสีย "บัตร-สินเชื่อบุคคล" ก่อน 1 เม.ย. ขอปรับโครงสร้างดอกเบี้ย 5%

 

ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนยังแตกต่างกัน โดยบางกลุ่มยังผ่อนชำระได้น้อย จึงต้องใช้เวลานาน ในขณะที่บางกลุ่มสามารถผ่อนชำระเป็นจำนวนเงินสูงขึ้นได้ เพื่อให้หมดภาระหนี้เร็วขึ้นจากเดิม ที่โครงการคลินิกแก้หนี้กำหนดการปรับโครงสร้างหนี้โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเงินต้นเป็นรายเดือน โดยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี เป็นระยะเวลานานสูงสุด 10 ปี แต่เพื่อเป็นทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะกับบริบทเศรษฐกิจมากขึ้น

คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) จึงได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ 2 เรื่อง ได้แก่

1.ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย จากเดิม ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ 

2.ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีเพียงทางเลือกเดียว เป็น 3 ทางเลือก ดังนี้

  • ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี 
  • ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี 
  • ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี 

โดยให้มีผลสำหรับหนี้ใหม่ที่เริ่มผ่อนชำระในโครงการตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ลูกหนี้ควรพิจารณาทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของตนเอง โดยลูกหนี้สามารถชำระและปิดจบหนี้ได้เร็วกว่าเงื่อนไขที่ตกลงไว้ โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับใด แต่หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ก็อาจต้องออกจากโครงการไป

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ สะสมจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 มีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวน 30,137 ราย รวม 90,539 บัญชี ภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 6,849 ล้านบาท โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ในโครงการ 2 ราย เงินต้นคงเหลือตามสัญญา 232,844 บาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เข้าโครงการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน จำนวน 26,943 ราย 78,744 บัญชี 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ยังได้ร่วมกับกระทรวงการคลังแถลงข่าวการจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ซึ่งครอบคลุมหนี้ประเภทต่าง ๆ จากเจ้าหนี้เอกชน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมประมาณ 60 แห่ง มีกำหนดจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 มุ่งช่วยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนที่เข้าข่ายโปรดติดตามข่าว และเตรียมตัวลงทะเบียน

OR ตั้ง “วิศาล” รักษาการ CEO แทน “จิราพร” เกษียณอายุ

GULF ซื้อหุ้น 49% โรงไฟฟ้าก๊าซในสหรัฐฯ มูลค่า 1.48 หมื่นล้านบาท

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ