เศรษฐกิจโลกโตช้าลง สัญญาณถดถอย ไทยต้องลุ้นท่องเที่ยวฟื้น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เศรษฐกิจโลก เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้เข้าภาวะถดถอยแล้ว ล่าสุด OECD หั่นคาดการณ์ GPD โลก พิษจากเงินเฟ้อ-ขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ไทย เดือน ส.ค.ขาดดุลการค้า 1.54 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 9 ปี ท่ามกลางเงินบาทแนวโน้มอ่อนค่า โดยต้องลุ้นรายได้จากท่องเที่ยว เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งตัวเลขการเดินทางนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ยังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ -15.3%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วง 5 วันติด เข้าภาวะหมี จนท.เฟด ย้ำรุกขึ้นดอกเบี้ยเต็มกำลัง

คาดประชุมกนง. 28 ก.ย.นี้ ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) รายงานผ่านบทวิเคราะห์ ระบุว่า สัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะถัดไป ได้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ล่าสุด องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจหลายประเทศชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ก่อนที่ปรับ ลดลงในปี 2566 ทำให้คาคการณ์การอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลก (World GDP Growth) ในปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 2.2% จากที่คาดไว้ราว 2.8%

โดยเป็นผลมาจากการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กดดันให้ราคาอาหาร และพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งธนาคารกลางหลายประเทศใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดรวมถึงการใช้นโยบาย Zero Covid ของจีน ที่ส่งผลให้เศรษรฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงด้วย

นอกจากนี้ยังมี Leading Indicator (ดัชนีตัวแปรชี้ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้า เป็นดัชนีทางเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีดขึ้นก่อนที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะค่อย ๆ ดี และในทางกลับกัน ดัชนีนี้ก็จะปรับตัวลดลงก่อนเศรษฐกิจชะลอตัว) จากการเกิดInverted Yield Curve สหรัฐฯยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการเกิด Inverted YieldCurve ที่ลึก จะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในเวลาต่อมา โดยหุ้นมักจะปรับฐานแรงเวลาเกิดภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าใกล้สู่ภาวะถดถอย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ  2 ปี ยังต่ำ กว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรฐกิจยังแข็งแกร่ง

ไทยส่งออกดี แต่ดุลการค้ายังติดลบ ลุ้นการเปิดประเทศช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศ

การส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.65 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 7.5% น้อยกว่าตลาดคาด +7.7% ทำให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค. - ส.ค.) ขยายตัว 11.0% ที่มูลค่า 196,446.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการนำเข้าในเดือน ส.ค. มีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.3% มากกว่าตลาดคาด +17.95% ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 21.4% ที่มูลค่า 210,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยดุลการค้าในเดือน ส.ค.65 ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.54 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 9 ปี และช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขาดดุล 14,131.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินบาทที่อ่อนค่านั้นถึงแม้จะส่งผลดีต่อการส่งออกแต่กระทบต่อการนำเข้า ซึ่งจากภาวะการส่งออกในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตถึง 11% แต่กลับมียอดขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ดุลการค้าเดือน ส.ค.65 ขาดดุล 4,215.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ ระดับ -6.03% ซึ่งเทียบกับภาวะปกติช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หรือสิ้นปี 2562 อยู่สูงถึง 7.1% แต่ยังมีโอกาสกลับไประดับปกติได้หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง ในช่วง 2 -3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขนำเข้าลดลง ผลักดันดุลการค้าให้สูงขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมเศรษฐกิจไทย คือ รายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งนอกและในประเทศ โดยภาวะปกติ ณ ปี 2562 รายได้จากนักท่องเที่ยวมีมูลค่า 1.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน 12.1% ของ GDP ซึ่งหากนำสมมุติฐานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดมีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ณ สิ้นปีนี้ จะคิดเป็นสัดส่วน 1.44% ของ GDP เท่านั้น

ทำให้ภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตได้จากส่วนของรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งนอกและในประเทศ ซึ่ง สอดคล้องกับ ข้อมูล Transport ของแต่ละประเทศเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีค่าเฉลี่ย 19.4% ขณะที่ไทยการเดินทางระหว่างกันยังน้อยกว่าระดับก่อนเกิด โควิด-19 ที่ -15.3%

โดยทั้ง 2 ส่วน คือ ดุลการค้าที่มีโอกาสฟื้นตัว และ รายได้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ หนุนให้ GDP Growth สิ้นปีนี้ของไทยมีโอกาสแตะระดับ 3-3.5% ตามเป้า ฝ่ายวิจัยฯ มองเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งในอนาคต คาดทำให้ SET Index ผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ

ขณะที่ส่วนการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันพรุ่งนี้ (28 ก.ย65) เป็น ประเด็นที่ต้องจับตา โดยหากพิจารณาจากเงินบาทที่อ่อนค่าเข้าใกล้ 38 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ยังไม่ควรตัดโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ออกไป

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ