ครูฝึกดับเพลิง วิเคราะห์เสียง “ปัง” ก่อนบ้านหรูพังถล่มทับคน แนะแก้ระเบียบช่วยชีวิตผู้ปฏิบัติงาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีบ้านไฟไหม้ถล่ม ย่านทวีวัฒนา อดีตนักดับเพลิงที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี เปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ชี้ปัญหาของการกู้ภัยของไทย มีนักดับเพลิงเสียชีวิตระหว่างดับเพลิงบ่อยครั้ง เพราะต้องใช้ประสบการณ์ในการประเมินเป็นหลัก ไม่มีข้อมูลแปลนอาคารมาช่วยวางแผน เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนเคสนี้มองว่าน่าจะมีการระเบิดก่อนตึกถล่มลงมา เพราะมีเสียงปัง 2-3 ครั้ง ก่อนจะถล่มแบบในภาพ

ไฟไหม้บ้าน เกิดทรุดตัว ถล่มทับกู้ภัยบาดเจ็บ-เสียชีวิต

“ผู้ว่าฯอัศวิน” เผย ดับแล้ว 5 เหตุไฟไหม้บ้านพังถล่มทับกู้ภัย เร่งกู้ร่างใต้ซากอาคาร

เปิดแผนปฏิบัติการ ช่วยคนติดใต้ซากบ้านถล่มทับกู้ภัย

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2564 เสียงที่ดังปัง 2-3 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดีโอที่มีผู้ถ่ายไว้ได้ก่อนที่อาคารหลังนี้จะถล่มลงมา นายพรรัตน์ บริพันธ์ ที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และเป็นอดีตนักดับเพลิงมากกว่า 10 ปี วิเคราะห์ว่า จะสังเกตว่ามี เสียง “ปัง” ที่มีลักษณะการดังแบบครั้งเดียว และดังเว้นช่วง ดังอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนตึกจะถล่มลงมา ซึ่งเป็นเสียงที่คล้ายกับการระเบิดของระบบที่มีแรงดัน จึงสันนิษฐาน ส่วนหนึ่งการถล่มของอาคารอาจจะเกิดจากการระเบิดของบางอย่างในอาคาร เช่น ระบบคอมเพรสเซอร์แอร์ และ แก๊สหุงต้ม หรืออาจเป็นระบบแรงดันอื่น ๆ ที่มีการติดตั้งในอาคาร

ส่วนสาเหตุรองลงมาที่อาจจะเป็นอีกสาเหตุให้ตึกถล่มลงมา คือ โครงสร้างและวัสดุการก่อสร้าง เป็นไปตามแบบแปลนที่ เจ้าของตึกขออนุญาตจากสำนักงานเขตหรือไม่  และมีการก่อสร้างหลังปีพศ. 2535 ตามพรบ.ควบคุมอาคาร ฉบับที่2 พ.ศ. 2535 ออกมาบังคับหรือไม่ เพราะหากมีการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย หากไฟไหม้นานราว 1 ชั่วโมง ก็ไม่น่าจะทำให้อาคารถล่มลงมาเร็ว   

สำหรับเกณฑ์ในการประเมินการดับเพลิง ของนักดับเพลิง จะมี “ปัจจัยที่ควบคุมได้” ก่อนเริ่มงาน คือ 3 พร้อม คือ 1.ทีมงาน พร้อม 2.สภาพร่างกาย พร้อม และ ชุดป้องกัน PPE ที่พร้อมใช้งาน  ส่วน “ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้” คือ การลามของเปลวไฟ และ วัตถุไวไฟ หรือ ระบบต่าง ๆ ที่อยู่ในอาคาร ที่นักดับเพลิงไม่สามารถประเมินได้ที่หน้างาน เช่นเดียว กับเหตุการณ์นี้ ที่นักดับเพลิงก็ไม่สามารถประเมินได้ทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนในการดับเพลิงของไทย ยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ปฏิบัติงานอยู่มาก หากเปรียบเทียบกับ ต่างประเทศ เช่น สวีเดน อเมริกา เพราะ หากเป็นการวางแผนเข้าดับเพลิงตามมาตรฐานสากล จะต้องมีหน่วยงาน หรือ ผู้ที่มีแบบแปลนตึก เอาโครงสร้างของตึกที่ก่อเหตุมาวางแผนร่วมกับนักดับเพลิง เพื่อประเมินการวางแผนการทำงานของเจ้าหน้าที่  แต่ของ ไทย อาศัยการประเมินจากประสบการณ์ของหัวหน้าชุด หรือ ผู้ปฏิบัติการเป็นหลัก

อดีตนักดับเพลิงรายนี้ จึงเสนอว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร สังคยานา เรื่องขั้นตอนในการกู้ภัยเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานใหม่  โดยสามารถยกเคสที่เกิดขึ้นเป็นเคสกรณีศึกษา ว่าจะทำอย่างไร ให้ “นักดับเพลิง” มีแปลนของอาคารเพื่อมาประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าอาคาร เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอย่างครั้งนี้อีก

 

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ