5 คำแนะวิธีรับมือภัย e-Payment ป้องกันเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เตือนภัย e-Payment ถูกตัดเงิน และเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว กับ 5 วิธีป้องกันการถูกโจรกรรมเงินในบัญชี

จากการที่มี "แก๊งดูดเงิน" ระบาดหนักในไทย ทำให้มีผู้เสียหาย ถูกตัดเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิตและเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่าไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากระบบธนาคาร แต่เป็นการที่มิจฉาชีพ "สุ่มข้อมูลบัตร" และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ OTP ทำให้ความเสียหายตอนนี้ มีบัตรใช้งานผิดปกติ 10,700 ใบ เป็นบัตรเครดิต 5,900 ใบ บัตรเดบิต 4,800 ใบ รวม 131 ล้านบาท
เงินหายจากบัญชี บัตรเครดิต - เดบิตถูกแฮก ติดต่อคอลเซ็นเตอร์แบงก์ขอเงินคืน นายกฯจี้แก้ปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล ชี้ 3 สาเหตุถูกแฮกบัญชี
พบมีเหยื่อถูกดูดเงินจากบัตร 10,700 ใบ เสียหายกว่า 130 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้ ในฐานะผู้บริโภคอย่างเรา สามารถรับมือปัญหาจากภัยที่ถูกตัดเงินหรือเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัวได้ดังนี้

5 วิธีรับมือภัย e-Payment
1. ระวังการกรอกกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือให้ข้อมูลสำคัญทางธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์หรืออีเมล หรือ แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น แอพพลิเคชันสินเชื่อให้เงินกู้ เกมออนไลน์

2. ควรกำหนดวงเงินการใช้จ่ายของบัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิตให้เหมาะสมเพื่อจำกัดมูลค่าความเสียหาย บางกรณีอาจเลือกตั้งค่าวงเงินให้ต่ำสุดที่ระบบรองรับได้ และปรับแต่งอีกครั้งเมื่อมีการเรียกใช้งาน

3. เลือกใช้ช่องทางการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของบัญชีหรือบัตรเครดิต เช่น แจ้งยอดการเคลื่อนไหวของบัญชีออมทรัพย์ หรือ ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่าน SMS การตั้งค่าเตือนผ่านแอพพลิเคชัน

4. หมั่นสังเกตเงินในบัญชีตนเองว่ามียอดลดลงหรือไม่ หรือหากพบการใช้งานที่ผิดปกติควรรีบติดต่อ call center หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรโดยด่วนเพื่อแจ้งตรวจสอบ หรือ แก้ไขการทำธุรกรรมในทันที

5. หากได้รับการประสานจากธนาคารถึงความผิดปกติทั้งจากทางอีเมล หรือโทรศัพท์ เช่น การล็อกอินเข้าสู่ระบบที่ผิดปกติ การเปลี่ยนข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีบัตร ให้รับทราบ และประสานกลับตามช่องทาง call center ปกติ ของธนาคาร เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นช่องทางจากธนาคารจริง หากเป็นการแจ้งจากธนาคารจริง ให้เฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ เช่น การนำรหัสผ่านไปใช้งานต่อ การเปลี่ยนอาจมีการฝังมัลแวร์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ใช้งานเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมตลอดเวลา

เมื่อเกิดปัญหาแล้วควรทำอย่างไร?
-รีบแจ้งอายัดบัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิตทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเลขหน้าบัตร รวมถึงรหัส cvv ไปใช้
-ติดต่อ call center ของธนาคารต้นเรื่อง และปฏิเสธการจ่ายรายการหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ
-เก็บหลักฐานทั้งหมดที่ได้รับ เช่น SMS หน้าจอ วงเงิน statement ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ

ที่มา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ