สรุปเหตุการณ์คนใช้บัตรเครดิต - เดบิต โดนหักเงินจากบัญชีไม่รู้ตัว - แนวทางดำเนินคดี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นเรื่องที่ไม่เล็กแล้วหลังจาก กลุ่มคนที่ใช้บัตรเครดิต - เดบิต ออกมาเปิดเผยเรื่องราวการถูกหักเงินจากบัญชี แม้ยอดเงินจะน้อย แต่เมื่อรวมมูลค่าความเสียหาย ตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท

สำหรับเรื่องราวที่กลุ่มคนใช้บัตรเครดิต - เดบิต ถูกระบบตัดเงินจากบัญชี นี้ถูกเปิดเผยโดย แอดมินเพจดังอย่าง Drama-addict  เป็นผู้นำเรื่องนี้มาเปิดเผยกับสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่าน พร้อมตั้งข้อสังเกตเนื่องจากมีลูกเพจแจ้งมาให้ฝากเตือนคนอื่น เพราะบัญชีของลูกเพจถูกหักเงินไป ทั้งที่ไม่เคยเอาบัตรไปใช้ผูกบัญชีการจ่ายเงินจากแอปอะไรเลย แต่บัญชีที่ และรายการที่โดนหักกลับแสดงข้อความว่า EDC  ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องรูดบัตรเครดิตชำระเงิน

เงินหายจากบัญชี บัตรเครดิต - เดบิตถูกแฮก ติดต่อคอลเซ็นเตอร์แบงก์ขอเงินคืน นายกฯจี้แก้ปัญหา

เปิดคลิปโวยโดนดูดเงินออกจากบัญชี

5 คำแนะวิธีรับมือภัย e-Payment ป้องกันเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว

โดยหลังจากนั้นไม่นานกลุ่มผู้เสียหายเหล่านี้ต่างรวมตัวกันเปิดกลุ่มในเฟซบุ๊ก ชื่อแชร์ประสบการณ์โดนหักเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว เพียงไม่นานก็มีผู้เข้าร่วมและติดตามเกือบ 4 หมื่นราย พร้อมมีการแชร์ประสบการณ์หลากหลาย แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือคนที่ถูกหักเงินไปต่อยอด มีจำนวนเงินไม่สูงแต่หักเงินภายใน 1 นาทีเกือบ 100 ครั้ง จึงทำให้ความเสียหายมีมูลค่าต่อรายตั้งแต่หลักหมื่นบาท 

กระทั่งวันที่ 17 ตุลาคม ที่เพจธุรกิจชื่อดัง ลงทุนแมน โพสต์ข้อความ พร้อมแสดงหลักฐาน ว่า "มีรายงานการร้องเรียนจากเจ้าของบัญชีธนาคารจำนวนมากว่า บัญชีของพวกเขาโดนตัดเงินทีละจำนวนน้อยๆ แต่ถี่ๆ หลายรายการ โดยข้อความระบุว่า Purchase via EDC ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการซื้อสินค้าบริการผ่านบัตรเดบิต และมาตัดเงินจากบัญชีธนาคารอีกโดยรายการที่เกิดขึ้นจะพบในวันที่ 1-2 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างกรณีในรูปดังกล่าว บัญชีธนาคารนี้โดนตัดเงินทีละ 37 บาท 5 รายการ และ 86.90 บาท 7 รายการ และ 17.27 บาท 1 รายการ รวมเป็นเงินทั้งหมด 810.57 บาท ในช่วงเวลาประมาณตี 3 ของวันที่ 2 ตุลาคม 2564

ขณะที่เพจอื่นก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างเกรียวกราว งานนี้ร้อนถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกำกับดูแล ธนาคารต่างๆที่ต้องมีคำตอบให้กับเรื่องนี้ 

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็โดยสังคมเพ่งเล็ง เกี่ยวกับวิธีการดำเนินคดี ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อยู่เฉยไม่ได้ ต้องสั่งการให้ทุกโรงพัก รับแจ้งความในคดีความผิดบนโลกไซเบอร์ พร้อมสอบปากคำผู้เสียหายและลงบันทึกประจำวันไว้ทุกกรณี 

พร้อมแต่งตั้ง ให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ PCT มาควบคุมการดำเนินคดีให้เป็นในทิศทางเดียวกัน 

และเมื่อเช้าที่ผ่านมา ( 20 ต.ค.)  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  ได้ประชุมร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย, กสทช., ปปง., กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือและวางแนวทางในการแก้ปัญหาเหตุการณ์ ร้ายถอนเงินจากบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต ของประชาชนไป โดยได้ข้อสรุปดังนี้ 

     1. ธนาคารจะรับผิดชอบเป็นผู้เสียหายเอง โดยจะคืนเงินให้กับประชาชนที่เสียเงินไปภายใน 5 วัน นับแต่ธนาคารรับทราบเรื่อง และจะรวบรวมพยานหลักฐานร้องทุกข์กับ บช.สอท. โดยผู้เสียหายไม่ต้องมาแจ้งกับตำรวจเอง แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความไว้ก่อนแล้ว ตำรวจจะประสานโดยตรงกับธนาคารเอง 
     2.ปปง. จะเปิดศูนย์ Hotline 1710 ประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างพนักงานสอบสวนกับธนาคาร ในการอายัดบัญชีคนร้าย เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเทเงินในบัญชี
     3.กสทช. จะประสานข้อมูลกับผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อช่วยให้การสืบหาข้อมูลของคนร้ายได้เร็วขึ้น
     4. กระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นเจ้าภาพหลักในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชนผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมคนร้าย และจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขกฎเกณฑ์ และวิธีการ เพื่อให้ทันกับรูปแบบอาชญากรรมมากยิ่งขึ้น
    5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศูนย์ PCT จะเป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการร่วมกับ บช.สอท., และ ศูนย์ PCT นครบาล,ภูธร 1-9 ในการรวบรวม ติดตามและเร่งรัดการดำเนินดดีจากทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน โดยจะมีการตั้งชุดสืบสวนสอบสวน Online แต่ละจังหวัดเพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลพนักงานสอบสวนด้วย 

โดยหลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าตำรวจจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีหรือไม่ 
 

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ