จะเกิดอะไรขึ้น? หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียของยูเครนระเบิด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญประเมิน “มีความเป็นไปได้” ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนจะระเบิด ซึ่งจะสร้างผลเสียร้ายแรงมหาศาล

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่ทั่วโลกให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการโจมตีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็โทษกันไปกันมาว่า อีกฝ่ายเป็นผู้ที่โจมตีและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดหายนะนิวเคลียร์แบบเดียวกับเชอร์โนบิลขึ้นมา โดยยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าโจมตีออกมาจากเขตโรงไฟฟ้า เพื่อให้ยูเครนไม่สามารถตอบโต้ได้ ขณะที่รัสเซียก็บอกว่ายูเครนจงใจโจมตีโรงไฟฟ้า

ปูตินประกาศ รัสเซียเตรียมขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีกับเกาหลีเหนือ

UN ถกด่วน หวั่นเกิดหายนะนิวเคลียร์โรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย

“ซาโปริซเซีย” เสี่ยงหายนะนิวเคลียร์-อาจถูกผนวกเข้ารัสเซีย

สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) หน่วยงานเฝ้าระวังนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนยุติกิจกรรมทางทหารทั้งหมดรอบ ๆ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซียของยูเครนโดยทันที ขอให้มีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติเข้าไปตรวจสอบและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าซาโปริซเซียโดยเร็วที่สุด เพื่อควบคุมสถานการณ์การทำงานของโรงไฟฟ้า หลีกเลี่ยงหายนะที่อาจเกิดขึ้น

สหประชาชาติขอรัสเซีย-ยูเครนหยุดการโจมตีใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีทีท่าว่าคำขอจาก IAEA จะได้รับความร่วมมือ ทำให้ทั้งโลกผวาไปตาม ๆ กันว่า ท้ายที่สุดแล้ว โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริซเซียอาจจะเกิดระเบิดขึ้นมาจริง ๆ

ดมิโทร ออร์ลอฟ นายกเทศมนตรีเมืองเอเนอร์โฮดาร์ ที่โรงไฟฟ้าซาโปริซเซียตั้งอยู่ กล่าวว่า “ความเสี่ยง (ที่จะเกิดหายนะนิวเคลียร์) เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ... สถานการณ์อาจจบลงอย่างไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ”

ด้านผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกประเมินว่า เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนจะระเบิด “เป็นเรื่องที่เป็นไปได้” แต่ความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่ชัด

รอสส์ พีล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดความรู้ของศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์และความมั่นคงแห่งคิงส์คอลเลจลอนดอน กล่าวว่า “หากมีปัจจัยภัยพิบัติหลายอย่างมารวมกัน การระเบิดอาจเป็นไปได้ ... มันยากที่จะบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับว่าการระเบิดเกิดขึ้นได้อย่างไร”

มีความกังวลเกี่ยวกับการยิงจรวดและขีปนาวุธที่เกิดขึ้นรอบ ๆ โรงไฟฟ้า ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งเครื่องปฏิกรณ์ด้วย

ด้าน เอ็ม. วี. รามานะ ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะและสถานการณ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวว่า “เครื่องปฏิกรณ์จะต้องคอยถูกทำให้เย็นลงอย่างต่อเนื่องโดยระบบน้ำที่ไหลผ่าน แต่ถ้ากระแสน้ำนั้นถูกตัด ถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบ เครื่องปฏิกรณ์อาจสูญเสียความเย็น เชื้อเพลิงก็จะเริ่มหลอมเหลว มันจะทำให้แรงดันสูงและเกิดการระเบิดขึ้นได้”

นอกจากการระเบิดซึ่งจะสร้างความเสียหายและการทำลายล้างเป็นวงกว้าง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อีกปัญหาที่น่ากังวลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมาพร้อมการระเบิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้คนไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีผู้คนหลายแสนคนพยายามอพยพหนีจากพื้นที่นั้น

ร่างกายของคนเราหากสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสี อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย รวมถึงมะเร็งได้ หรือหากได้รับในปริมาณมาก ก็อาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

พีลกล่าวว่า “ตัวอย่างเช่น ที่เชอร์โนบิล ผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่เครื่องปฏิกรณ์เพื่อพยายามดับไฟที่กำลังลุกไหม้อาคารนั้น ได้รับรังสีปริมาณมหาศาลและได้รับผลกระทบจากสิ่งนั้นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง”

เขาเสริมว่า “ส่วนผู้ที่สัมผัสสารในปริมาณไม่มากอาจยังคงได้รับพิษจากรังสี แต่ฟื้นตัวได้ ซึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นหลายวันหรือเป็นสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน และสำหรับผู้ที่ได้รับรังสีในระดับต่ำ อาจทำให้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากขึ้นในช่วงหลายปีต่อจากนี้ไปจนถึงหลายทศวรรษ”

อย่างไรก็ตาม แม้โรงไฟฟ้าจะไม่ระเบิด ก็อาจก่อให้เกิดหายนะนิวเคลียร์ได้ หากระบบทำความเย็นและระบายความร้อนของแหล่งเก็บเชื้อเพลิงและเครื่องปฏิกรณ์ล้มเหลว จะนำไปสู่การสะสมความร้อนที่ไม่สามารถควบคุมได้ และอาจทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาได้เช่นกัน

เอมิลี สโตเอตเซล นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากภาควิชาสงครามศึกษา คิงส์คอลเลจลอนดอน บอกว่า “พวกเราส่วนใหญ่กลัวการปล่อยรังสี ไม่จำเป็นต้องเป็นการระเบิด ... การแผ่รังสีไม่ว่าในกรณีใด จะเป็นหายนะ”

เธอเสริมว่า “มันคาดเดาไม่ได้ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าอนุภาคที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจะไปอยู่ที่ไหน มันสามารถลอยไปได้ทุกที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ”

เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย หากมีรังสีรั่วไหลออกมา อาจสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อหลายพื้นที่ในทวีปยุโรป รามานะกล่าวว่า “ซาโปริซเซียตั้งอยู่ตรงกลางของทวีปยุโรปพอดี ดังนั้นไม่ว่าลมจะพัดไปทางไหน ก็ต้องมีคนปนเปื้อนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของยุโรปแน่นอน”

ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติและหลายประเทศทั่วโลก จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะขอร้องให้รัสเซียและยูเครนหลีกเลี่ยงการสู้รบกันในพื้นที่ที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดหายนะนิวเคลียร์

หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียเกิดระเบิดหรือมีรังสีรั่วไหลขึ้นมา มันจะกลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติ ที่ต่อให้ใช้เวลาอีกหลายสิบปีก็คงจะลืมไม่ลง

รัสเซีย เสียเครื่องบินรบหลายลำจากเหตุระเบิดในไครเมีย

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ