โควิด-19 ระลอกใหม่ ไทยจำเป็นต้องกู้เงินเยียวยา? กู้ไปแล้วเท่าไหร่ และใช้ทำอะไรบ้าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่เพียงแต่โรคภับไข้เจ็บเท่านั้น แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจนับเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กันที่รัฐบาลต้องเข้ามารับมือ ในช่วงที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดรอบแรก (ปี 2563) ซึ่งหนึ่งในแหล่งเงินที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นงบประมาณในการช่วยเหลือคือ “เงินกู้”

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงแรก มีการออกพระราชกำหนด 3 ฉบับคือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19

อัปเดต สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด 5 ม.ค. 2564

“บิ๊กตู่” ยัน ใช้เงินกู้คุ้มค่าสูงสุด ชี้ ไม่อยากกู้เพิ่ม

ฉบับที่ 1 พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

ฉบับ   2 พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท

ฉบับ  3  พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท

ซึ่ง ฉบับที่ 1 คือ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้ เดือน เม.ย. 2563 เป็นต้นมา โดยกำหนดไว้ว่าจะนำไปใช้ใน 3 เรื่องหลักคือ

นายกฯแจงกู้เงินเป็นทางเลือกสุดท้าย ฟื้นฟู ศก.-เยียวยาประชาชน

1.เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 

2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

และ 3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  

โดยแหล่งเงินกู้ของรัฐบาล เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ซึ่งก้อนล่าสุดที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.5 หมื่นล้านบาท ) ลงนามไปเมื่อ 16 พ.ย.2563 

รัฐบาลกู้อีก 4.65 หมื่นล้านบาท จาก ธนาคารพัฒนาเอเชีย สู้โควิด-19

ส่วนภาพรวมการกู้ทั้งหมดจาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 กระทรวงการคลัง ลงนามสัญญาเงินกู้และออกตราสารหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ฯ แล้ว 373,761 ล้านบาท คิดเป็น 37.38% ของวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ฯ คือ 1 ล้านล้านบาท

โดยที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติแผนงาน หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าวแล้วจำนวน 46 โครงการ วงเงินรวม 476,587.44 ล้านบาท และหน่วยงานเจ้าของโครงการได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 298,071.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.54 ของกรอบวงเงินตามที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งกระทรวงการคลังจะทยอยกู้เงินเมื่อ ครม.อนุมัติโครงการเพิ่มเติมตามความจำเป็นและความสอดคล้องกับการใช้เงินของโครงการต่อไป

ซึ่งจากการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 4 โครงการ สามารถเยียวยาให้แก่ผู้มีสิทธิจำนวน 30,524,376 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.92 จากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 33,946,103 ราย แยกเป็นดังนี้

1. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกระทรวงการคลัง วงเงินกู้ 240,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ เยียวยา ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิจำนวน 15,269,006 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.43 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินกู้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 159,583.94 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.87

2. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วงเงินกู้ 3,492.67 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือ เยียวยา ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการใดๆ ของภาครัฐ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้กลุ่มคนดังกล่าวมีรายได้ลดลง และไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ โดย สศค.ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิจำนวน 1,026,496 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.17 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินกู้ได้จำนวน 3,087.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.40

3. โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วงเงินกู้ 20,345.64 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มเปราะบางในระยะสั้น ช่วยให้มีรายได้เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะความยากจน และประสบปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นในระยะยาว โดยได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิจำนวน 6,662,994 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.25 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินกู้ได้ 19,988.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.25

4. โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤตและเพื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจตามมา โดยได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิจำนวน 7,565,880 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.66 เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 113,304.40 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.54

ในครั้งนั้นที่ ลงนามกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า

ครม.เห็นชอบกู้ 48,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเซีย วงเงินเยียวยาโควิด

คลังกู้เงินเยียวยาโควิด-19 อีก 4.5 หมื่นล้านบาท

กระทรวงการคลังมีภารกิจในการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ โดยการกู้เงินให้สอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อรักษาความยั่งยืนของฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับสภาวะตลาด (Market Base) และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับภาคเอกชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินโดยรวมของประเทศ

แล้วหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับใด?

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานต่อ ครม. (11 ธ.ค.2563) ว่า  หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับ ร้อยละ 49.53

“การกู้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับที่ 1 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60" 

แต่ พ.ร.ก. ฉบับ 2 และ 3 เป็นการช่วยเหลือทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ได้เป็นการกู้เงินเพื่อนำไปดำเนินงาน จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้น สรุปได้ว่า รัฐบาลจะมีภาระจากการกู้เงินโดยตรงเพียง 1 ล้านล้านบาท

เมื่อหนี้สาธารณะยังไม่เต็มเพดาน โควิดระลอกใหม่รัฐบาลควรกู้หรือไม่

ส.อ.ท.เสนอเพิ่มเงินคนละครึ่งเป็น 5,000 บาท

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐบาลไม่ใช้คำว่า ล็อกดาวน์ แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ที่ออกมา ก็เริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ลูกจ้างทั่วไป จนถึงผู้ประกอบการรายย่อย และการเยียวยาก็เริ่มถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลว่าจะตัดสินใจกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ขณะที่มีหลายฝ่ายออกมาเสนอแนะทางออก เช่นกัน

โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1-2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันรัฐบาลกู้แล้ว 1 ล้านล้านบาท เพื่อความอุ่นใจ เพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน อาจลุกลาม เอกชนห่วงเรื่องนี้มาตลอด การมีเงินอยู่ในมือที่มากพอเพื่อใช้แก้ปัญหาย่อมดีกว่าเงินไม่พอ ขณะที่ดอกเบี้ยในเวลานี้ค่อนข้างถูก หากกู้มาแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นภาระมากนัก

เช่นเดียวกับ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า รัฐบาลต้องนำงบประมาณจากก้อน พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังคงเหลืออัดฉีดเป็นเงินให้เปล่าอุดหนุนไปยัง พื้นที่จังหวัด หรือพื้นที่รัฐบาลสั่งให้ปิดกิจการ โดยเน้นย้ำว่า จะต้องจ่ายตรง เป็นเฉพาะกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุดก่อน หากจำเป็นต้องให้ความรู้การจำหน่ายสินค้าเป็นรูปแบบเดลิเวอรี่ยังร้านอาหาร รัฐก็ต้องปฏิบัติอย่างทันถ่วงที เพื่อลดผลกระทบของร้านค้า

รวมถึง นายกรณ์ จาติกวณิช  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ หัวหน้าพรรคกล้า แนะว่า ทางออกเร่งด่วน ต่อโควิดระบาดระลอกใหม่ สรุปใจความสำคัญ คือ 'โยกเงินกู้ 6 แสนล้าน' เร่งเยียวยาประชาชน และลงมือทำ 3 ข้อเร่งด่วน ช่วยเหลือ 4 กลุ่มสาหัส

โดยก่อนจะมีการกู้เพิ่ม นายกรัฐมนตรีควรจะทบทวนแผนการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ทุกบาททุกสตางค์ถึงมือผู้เดือดร้อนจริงโดยตรง และโดยเร็วที่สุด คือ จากข้อมูลทางการล่าสุด ก้อนที่1 : 'งบเยียวยา' ยังเหลืออยู่เกือบ 200,000 ล้านที่ยังไม่เบิกจ่าย

ส่วนงบเจ้าปัญหาคือ ก้อนที่2 : ‘งบฟื้นฟู’ นั้นเพิ่งเบิกจ่ายไปได้แค่ 2,600 ล้าน (จาก 400,000 ล้าน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบราชการในการตอบโจทย์ Covid อย่างมีประสิทธิภาพ

แนะนำว่า ควรโอนงบโดย 'โยกเงินกู้' ส่วนที่เหลือนี้ไว้ทั้งหมดกว่า 6 แสนล้าน กลับมาเร่งเยียวยาประชาชนโดยตรง อย่างเร่งด่วนก่อน เพราะจากการระบาดระลอกใหม่ มีคำสั่งที่กระทบต่อความเป็นอยู่ และรายได้ของประชาชน 4 กลุ่มเดือดร้อนสาหัส ได้แก่

1. พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เงินช่วยเหลือจากประกันสังคม 6 เดือนหมดไปแล้วแต่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ รัฐบาลควรมีมาตรการในการรองรับความเดือดร้อนส่วนนี้

2. กลุ่มที่รับเงินเยียวยา 5 พันบาท 3 เดือน จากโครงการเราไม่ทิ้งกันก็ผ่านไปแล้ว

3. กลุ่มประชาชนและร้านค้าที่ได้ประโยชน์จากโครงการคนละครึ่งซึ่งส่งผลดีมากๆ ตอนนี้คนไม่สามารถออกไปจับจ่ายได้อย่างเคยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

4. กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการ ร้านสปานวดแผนโบราณ ฯลฯ ที่กำลังจะต้องแบกภาระดอกเบี้ย ค่าเช่า ค่าแรง ในระหว่างนี้ที่มีมาตรการควบคุมโรค รัฐสามารถช่วยรับภาระดอกเบี้ย หรือค่าแรงบางส่วนได้ และควรสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของที่เจ้าของตึกลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการโดยใช้แรงจูงใจทางภาษีมาช่วย

คลัง แจง จำเป็นต้องกู้เพิ่ม 2.14 แสนล้าน ให้เพียงพอรับเบิกจ่ายสิ้นปีงบ'63

“สภาพัฒน์” ชี้แจง กรณี พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

โควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่รัฐบาลกำลังต่อสู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ ปากท้อง ความเป็นอยู่ กิจการร้านค้า ของประชาชนก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไขไปด้วยพร้อมๆ กัน 

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ