เผยหมดเปลือกบทเรียนราคาแพงที่ลูกหนี้ควรรู้และไม่ควรทำ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงของคนเป็นหนี้ 4 รูปแบบ พร้อมคำเตือนก่อนใช้บัตรเครดิตและขอสินเชื่อบุคคล

ก้าวที่พลาดแบบไม่รู้ตัวของ “ลูกหนี้” ทำให้เกิดภาระหนี้ก้อนโต ดอกเบี้ยมหาศาลจนหลายคนท้อ และ กลายเป็นการสะสมหนี้เกินกำลังที่จะชำระคืน กลุ่มงานแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงถอดบทเรียนของลูกหนี้ที่เข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มาสรุปเป็นแนวทางในการเรียนรู้ว่า พฤติกรรมการเป็นหนี้เหล่านี้ควรจะหลีกเลี่ยง หรือ ไม่ควรก้าวพลาด ก่อนที่จะสายเกินแก้

ชี้ช่องทางแก้หนี้..ขจัดทุกปัญหาหนี้สินที่รุมเร้าครบจบทุกภาระหนี้

"อย่าจ่ายขั้นต่ำ" เคล็ดลับแก้หนี้บัตรเครดิต แบบไม่ต้องแบกดอกเบี้ย

พลาดแรก: ความไร้เดียงสา ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิต “แพง” ประเมินไม่ถูกว่า “แพง” เป็นอย่างไร และไม่รู้ว่า ถ้าผิดนัดชำระหนี้ หรือจ่ายขั้นต่ำ จะถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ละเดือนจึงต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงให้กับเจ้าหนี้จนหลายคนท้อ

พลาดที่สอง: โรคภูมิแพ้การตลาด เริ่มจาก “แพ้” การตลาดของผู้ให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการให้ใช้ก่อน-จ่ายทีหลัง หรือ ตัดแต้มแลกส่วนลดเงินสดหรือแลกสินค้า และยัง “แพ้” ข้อเสนอดีๆ เพื่อให้เปิดวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลแถมไม่มีหลักประกันด้วย ยิ่งทำให้เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งยัง “แพ้” ระบบการตลาดออนไลน์ที่เข้ามายั่วกิเลสได้ทุกเวลา ไม่เลือกสถานที่ สุดท้ายอาการภูมิแพ้ก็แสดงออกมาเป็นการใช้จ่ายเกินตัว และ สะสมหนี้จนเกินกำลังจะชำระคืน 

พลาดที่สาม: ไม่รู้หลักการบริหารเงิน 2 ข้อสำคัญ

ข้อแรก ลงทุนอะไรต้องให้คุ้มกับดอกเบี้ย ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยใช้เงินกู้จากบัตรเครดิตไปซื้อสินค้า (ลงทุน) เพื่อขายทำกำไร โดยไม่รู้เลยว่าจะขายได้เมื่อไร ในราคาเท่าไร ขณะที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 16%

ข้อสอง ต้องระวังไม่ให้เกิด Maturity mismatch หรือ การนำสินเชื่ออายุสั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว เช่น สร้างบ้าน ย่อมมีโอกาสสูงที่ลูกหนี้จะหมุนเงินไม่ทัน ลูกหนี้จำนวนหนึ่งจึงใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ดอกเบี้ยสูงถึง 25% ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง มาสร้างบ้าน ทั้งที่ควรขอสินเชื่อระยะยาวที่ผ่อนได้นานและดอกเบี้ยต่ำกว่า หรือ ลดขนาดบ้านหรือค่อยๆ ทยอยต่อเติมบ้านก็ได้ สุดท้ายเมื่อผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ กลายเป็นหนี้เสีย และเมื่อลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตกลงกันไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทำให้เจ้าหนี้ต้องฟ้องดำเนินคดี สุดท้ายถูกบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดเงินเดือน

พลาดที่สี่: อยากมีชีวิตที่พร้อมแต่การงาน-การเงินยังไม่มั่นคง เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยพอเริ่มทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเองก็อยากมีคอนโด มีรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อยคนจะสามารถซื้อหาได้ด้วยเงินสด จึงเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยลืมคิดไปว่า การผ่อนของที่มีราคาขนาดนี้ต้องใช้เวลาหลายปี แต่งานที่เราทำอาจไม่มั่นคง เงินออมก็น้อย และ อาจเกิดอุบัติเหตุชีวิตขึ้นได้เมื่อไรก็ได้ โอกาสผ่อนได้ไม่จบย่อมมีสูง

ขณะเดียวกัน ด้วยพลังความมุ่งมั่นแบบไม่กลัวอะไรของคนวัยนี้ ทำให้หลายคนทุ่มหมดหน้าตัก คือเหลือเงินใช้ส่วนตัวไม่มาก อาศัยการรูดบัตรเครดิตหรือขอสินเชื่อส่วนบุคคลมาใช้จ่าย สุดท้ายเมื่อสภาพคล่องสะดุด ต้องกลายเป็นหนี้เสีย  เสียประวัติด้านการเงิน ไม่สามารถขอสินเชื่อได้อีกในอนาคต และหลายคนถูกอายัดเงินเดือน ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานเพราะที่ทำงานหลายแห่งไม่รับบุคคลที่ถูกอายัดเงินเดือนเข้าทำงาน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและครอบครัว

ปัจจุบันสถาบันการเงินต่างมีโปรแกรมช่วยเหลือหลายรูปแบบสำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการผ่อนชำระ ลูกหนี้จึงควรเปิดใจเข้ามาเจรจากับเจ้าหนี้ดีกว่าการหลบเลี่ยง เพราะจะนำมาสู่การฟ้องดำเนินคดีต่อศาล ทำให้การเจรจาหาข้อยุติยากยิ่งขึ้น เพราะต่างขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันแล้ว

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมสนับสนุนการเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นช่อง “ทางด่วนแก้หนี้”  “คลินิกแก้หนี้” และ “การจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์” ซึ่งเป็นกิจกรรมระยะสั้น โดยการสนับสนุนของกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อดูแลลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป็นระยะๆ  งานนี้มีความพิเศษ คือ ลูกหนี้ที่ถูกพิพากษาแล้ว ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ซึ่งปกติจะไม่มีสิทธิกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้อีก แต่ภายใต้งานมหกรรมฯ จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้กลับมาเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง พร้อมสิทธิประโยชน์พิเศษที่เจ้าหนี้เสนอให้และเนื่องจากงานนี้เป็นกิจกรรมหมุนเวียน จึงขอให้ผู้สนใจติดตามผ่านสื่อต่างๆ หรือ www.1213.or.th หรือสอบถามมาที่เบอร์โทร. 1213

ในอนาคตควรนำบทเรียนฯ มาออกแบบนโยบาย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน การคุ้มครองและให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการทางการเงิน และนโยบายสาธารณะอื่นๆ เพื่อให้สุขภาพทางการเงินของประชาชนทั่วไปแข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ : แก้หนี้ครบจบในเล่มเดียว ตอน : บทเรียนจากก้าวที่พลาดของคนเป็นหนี้ โดย : ชวนันท์ ชื่นสุข - อโนทัย พุทธารี ธปท.

รอวันกลับมาสนุก

โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ