ติดกับดักหนี้นอกระบบ แก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วย 3 วิธีนี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โฆษณาจูงใจ ตามใบปลิวหรือนามบัตรที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า "ได้เงินทันใช้ กู้สะดวก ไม่ตรวจบูโร" พอหลงเข้าติดต่อขอกู้ก็กลายเป็นติดหนี้นอกระบบไปเสียงั้น ซึ่งงานนี้มีวิธีแก้ปัญหาด้วย 3 วิธีการนี้

ด้วยค่าครองชีพในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร คนหาเช้ากินค่ำแค่จะประคองตัวเองให้มีรายได้เพื่อมาเลี้ยงชีพ ก็เรียกว่าค่อยข้างยากเย็น และเมื่อยิ่งประสบปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ก็ยิ่งทำให้การหารายได้ลดน้อยลง แต่รายจ่ายกลับไม่ลดลงเลย งานนี้ก็ต้องเจอเหตุการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องไปพึ่งพาหยิบยิมเงินทองจากเพื่อน หรือ ญาติพี่น้อง หรือกู้จากธนาคาร แต่ถ้าไม่สามารถหยิบยืมหรือกู้จากแหล่งเงินทุนเหล่านี้ ก็อาจทำให้เราหันหน้าไปพึ่งพาบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบ 

คำค้นหายอดนิยมบน "Google" ของคนไทยปี 64 “โครงการเยียวยา-โควิด” ยังมาแรง

ญาติไม่รู้ พ่อค้าหมูกระทะติดหนี้นอกระบบ

แต่พอยิ่งยืม ยิ่งกลายเป็นการสร้างภาระหนี้ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเจ้าหนี้นอกระบบจะคิดดอกเบี้ยสูง  ยิ่งถ้าเป็นประเภทดอกลอยยิ่งทวีคูณความโหดขึ้นไปอีก เพราะเป็นเงินกู้ที่ลูกหนี้จ่ายแต่ดอกเบี้ยทุกวันไปเรื่อย ๆ ไม่เคยตัดเงินต้น จนกว่าจะมีเงินก้อนมาจ่ายเงินต้นทั้งหมดจึงหมดหนี้ จากเงินกู้ไม่กี่พันบาทอาจกลายเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อใช้หนี้ไปเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน สุดท้ายไม่สามารถหลุดออกจากวงจรหนี้ได้

ซึ่งหลายคนก็มักใช้วิธี หนีหนี้เอาเสียดื้อๆ แต่นั้นไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง การเผชิญหน้าและแก้ปัญหาน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยเราสามารถทำได้ดังต่อไปนี้ 

1. หาเงินมาปิดหนี้
          เริ่มต้นด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง เช่น ค่าชอปปิง ค่าอาหารมื้อพิเศษ ค่ากาแฟ ค่าเหล้า ค่าบุหรี่ ค่าหวย หารายได้เพิ่มเติมจากความถนัดหรืองานอดิเรกของตัวเอง และลองรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่มีอยู่ว่ามีอะไรที่น่าจะมีคนสนใจซื้อและขายออกไปได้บ้าง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ซึ่งการตัดใจขายทรัพย์สิน  คนส่วนใหญ่คงบอกว่าทำใจลำบาก แต่เมื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ค่อยทยอยเก็บเงินซื้อทรัพย์สินใหม่ก็ยังไม่สายเกินไป

2. หาแหล่งเงินกู้ในระบบ

          สอบถามธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบออกมาเป็นระยะ หรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน (เช่น บ้านหรือทะเบียนรถ) นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และสินเชื่อพิโกพลัส ซึ่งดอกเบี้ยของสินเชื่อเหล่านี้น้อยกว่าดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบ มีสัญญาชัดเจน และมีหน่วยงานทางการกำกับดูแลอีกด้วย

3. หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
          ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย (ที่มา : https://bit.ly/3aojiur) สำหรับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้น้อย จะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัดช่วยฝึกอบรมอาชีพ ฝีมือแรงงาน และให้ความรู้ทางการเงิน

นอกจากนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการดังต่อไปนี้  
ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344

 

ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ