โรคระบาด ASF ในหมู กระทบการส่งออกอย่างหนัก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการ ชี้ โรคระบาด "อหิวาต์แอฟริกาในหมู" หรือ ASF กระทบการส่งออกหมูหนัก คาด ต้องใช้เวลา 5-10 ปี กว่าที่ไทยจะสามารถส่งออกหมู และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูได้

การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF กระทบด้านการส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู โดยนักวิชาการ คาดว่า อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี กว่าที่ไทยจะสามารถส่งออกหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูได้ โดย รศ.น.สพ. กิจจา อุไรรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย ถึงข้อกังวลว่าประเทศไทยอาจไม่สามารถส่งออกเนื้อหมู ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ ASF

กรมปศุสัตว์ รับตรวจพบอหิวาต์แอฟริกาในหมู

พบหลายฟาร์มขออนุญาตเคลื่อนย้าย"ซากหมู"

รู้จักโรค ASF โรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ หายนะหมูไทย

จนกว่าประเทศไทยจะรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ว่าไม่พบการระบาดของเชื้อนี้อีก แต่ปัญหาคือเชื้อนี้มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมนาน อาจต้องใช้เวลา 5-10 ปี หรือมากกว่านั้นในการจัดการโรค ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ไทยปลดล็อกการส่งออกได้เร็วขึ้น คือการพัฒนาวัคซีน ซึ่งตอนนี้หลายมหาวิทยาลัย อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีน แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพที่มากพอ

นอกจากนี้ การทำฟาร์มหมูในอนาคต ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงแบบระบบปิด แบบ Biosecurity ที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อลดความเสียงในการติดเชื้อในหมู

ขณะที่ นายพีรพล ฤทธิเพชรอัมพร ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด ยอมรับว่า กังวลเรื่องต้นทุนการทำฟาร์มปิดแบบ Biosecurity ที่ค่อนข้างสูง หมูแม่พันธุ์ 1 ตัวต้องใช้งบประมาณเฉลี่ย 100,000 บาท ไม่รวมการปรับปรุงโครงสร้างอาคารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ที่เจอปัญหาขาดทุนไปก่อนหน้านี้จากโรคระบาดในหมู อาจไม่สามารถกลับมาเลี้ยงหมูได้อีก

เรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ASF เป็นไวรัสที่มีโครงสร้างซับซ้อนมาก ปัจจุบันยังมีข้อมูลน้อยมากว่าไวรัสตัวนี้สร้างโปรตีนอะไรออกมาได้บ้าง ซึ่งทำให้การออกแบบยาต้านไวรัสทำได้ลำบาก และถ้าดูจากโครงสร้างของไวรัสที่ยากต่อการถูกทำลาย ข้อมูลที่มีการตีพิมพ์ออกมาระบุว่า ASF สามารถอยู่ภายนอกเซลล์ เช่นในตัวอย่างเลือดสุกรที่ติดเชื้อ และแช่ในอุณหภูมิตู้เย็นช่องธรรมดาที่ 4 องศาฯ เชื้อสามารถได้นานถึง 6 ปี โดยที่ไวรัสยังสามารถมีคุณสมบัติติดเชื้อได้อยู่

ส่วนการนำตัวอย่างสุกรติดที่เชื้อไปรวมกันในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตุ่ม หรือ โอ่ง โดยไม่มีการทำลายอย่างถูกต้อง จะเป็นแหล่งสะสมของปริมาณไวรัสจำนวนมหาศาล ถึงแม้ว่าซากสัตว์อาจจะเปื่อยเน่าไปแล้ว แต่เชื่อว่าไวรัสยังสามารถพบได้ และจำเป็นต้องทำลายก่อนมีการปนเปื้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลระบุ ว่าน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ได้ผลต่อไวรัสทั่วไปน่าจะยังใช้ได้อยู่กับ ASF แต่อาจจะต้องให้เวลาน้ำยาสัมผัสกับพื้นที่ปนเปื้อนนานขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไวรัส  ASF ไม่ติดสู่คน และไม่ก่อให้เกิดโรคในคน ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีเชื้อ ASF ไม่มีประเด็นต่อการติดเชื้อในคนแน่นอน

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ