กรุงเทพฯ ครองอันดับ 15 เมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รายงานใหม่จากธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์เผย กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 15 ของโลก

Julius Baer ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงาน Global Wealth and Lifestyle Report 2022 หรือ “ดัชนีไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Index)” เพื่อจัดอันดับเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก

โดยดัชนีนี้พิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อการดำเนินชีวิตตามไลฟ์สไตล์ 19 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้า-บริการกลุ่มฟุ่มเฟือย ระหว่างเดือน พ.ย. 2021 ถึง เม.ย. 2022 ใน 24 เมืองใหญ่ทั่วโลก

จับตา กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย หวั่นไม่ทันเงินเฟ้อพุ่ง ทำข้าวของแพง-ค่าครองชีพสูง

เทียบค่าครองชีพ เม.ย.-พ.ค.65 เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 300 บาท

ค่าครองชีพพุ่ง กำลังซื้อหด ร้านค้าปลีกกระทบหนัก ความเชื่อมั่นวูบ

โดยผลการสำรวจพบว่า กรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 15 เมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ร่วงลงมาจากอันดับ 11 ในปีที่แล้ว โดยมีสินค้า-บริการใน 5 รายการที่ปรับตัวสูงขึ้น คือ ค่าจ้างทนายความ (สูงขึ้น 7%) จักรยาน (สูงขึ้น 18%) สินค้าเทคโนโลยี จำพวกไอโฟน ไอแพด (สูงขึ้น 39%) ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ (สูงขึ้น 51%) และวิสกี้ (สูงขึ้น 55%)

ส่วนสินค้า-บริการที่ปรับราคาลดลงมามากที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ประกันสุขภาพ (ลดลง 31%) และค่าห้องพักโรงแรม (ลดลง 26%) โดยค่าห้องพักโรงแรมของกรุงเทพฯ ถือว่าถูกที่สุดใน 24 เมืองที่มีการสำรวจ

แต่สินค้า-บริการกลุ่มที่แพงของกรุงเทพฯ คือ ราคาวิสกี้ ราคารถยนต์ ราคารองเท้าผู้หญิง และราคาค่าบริการทำเลสิก ซึ่งรายการเหล่านี้ของกรุงเทพฯ สูงเป็นอันดับ 3-4 ของโลก

Julius Baer ชี้ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองระดับกลางที่มีค่าครองชีพถูกลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยมีราคาสินค้า-บริการหลายรายการต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของภูมิภาค อาจเป็นเพราะประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ และอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการระบาดของโควิด-19

ดัชนีไลฟ์สไตล์ระบุว่า เซี่ยงไฮ้ของจีน เป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก โดยระบุว่า แม้แต่คนรวยที่ร่ำรวยที่สุดก็หนีไม่พ้นจากแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยมีราคาแพงขึ้นมาก

เซี่ยงไฮ้ครองตำแหน่งเมืองค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีสินค้า-บริการปรับราคาขึ้นถึง 16 รายการจาก 19 รายการ

ที่น่าสังเกตคือ ใน 5 อันดับแรกของดัชนีไลฟ์สไตล์นี้ เป็นเมืองในภูมิภาคเอเชียถึง 4 เมือง คือ เซี่ยงไฮ้ (อันดับ 1) ไทเป (อันดับ 3) ฮ่องกง (อันดับ 4) และสิงคโปร์ (อันดับ 5)

ส่วนอันดับที่ 2 นั้นตกเป็นของ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งอันดับพุ่งพรวดมาจากอันดับ 8 ในปีที่แล้ว จากราคาสินค้า-บริการที่เพิ่มขึ้นถึง 15 รายการจาก 19 รายการ โดยเฉพาะค่าบริการห้องพักโรงแรมที่พุ่งทะยานกว่า 225%

ขณะที่โตเกียวซึ่งถูกแย่งอันดับ 2 ไปนั้น มีค่าครองชีพตกลงมามากที่สุด โดยร่วงลงมาอยู่ที่อันดับที่ 8 ส่วนใหญ่เกิดจากวิกฤตการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น

เมื่อเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า ไม่มีเมืองใดในสหรัฐฯ หรือทวีปอเมริกาอยู่ใน 10 อันดับแรกของดัชนีนี้เลย ซึ่งเมืองเหล่านี้จะถูกมองว่า “มีค่าครองชีพถูกมาก” ในสายตาของคนที่มีเงิน

โดยสรุปในภาพรวม รายงานระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการสูงขึ้น รวมถึงสินค้า-บริการ 19 รายการที่ Julius Baer ทำการสำรวจด้วย สะท้อนวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

โดยสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี เช่น ไอโฟน ไอแพด แมคบุ๊ก มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาสินค้า-บริการ 19 รายการ เฉลี่ยทั้งโลกเพิ่มขึ้น 41% รองลงมาคือค่าจ้างทนายความที่ทั่วโลกสูงขึ้น 32.6%

ในทางตรงกันข้าม รายงานพบว่า สินค้ากลุ่มไวน์และประกันสุขภาพีการปรับราคาลดลงมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยลดลง 26.1% และ 24.4% ตามลำดับ

 

เรียบเรียงจาก CNBC

ภาพจาก AFP

10 อันดับอาชีพร้อนแรง อัตราการ “จ้างเด็กจบใหม่” พุ่งสูง

วอลเลย์สาวไทย ปลอดโควิดยกทีม พร้อมดวลญี่ปุ่น เย็นนี้

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ