น้ำพริกแคบหมูยายน้อย ขายขำสู่ยอดเงินแสนต่อเดือน กับ การตลาดแบบบูลลี่


โดย มาสิรี กล่อมแก้ว

เผยแพร่




แบรนด์ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย มีจุดเด่นขายความฮาสู่ยอดขายหลักแสนบาทต่อเดือน กับ การตลาดแบบบูลลี่ เมื่อเหนื่อยตามกระแส แต่คุ้มเมื่อสร้าง Community Marketing ได้

ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มีร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถประคองธุรกิจได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่มีสินค้าใหม่ๆจากผู้ประกอบการรายเล็กๆจำนวนไม่น้อยได้แจ้งเกิด หนึ่งในนั้น คือ แบรนด์ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย ของ คุณเบียร์ ศรัญญู เพียรทำดี อดีตพนักงานโลจิสติกส์วัย 38 ปี

ร้านขนมหวาน ผ่าน Personal Branding โดนใจสายท่องโซเชียล

บุก True Digital Park โมเดลของการจัดการสิ่งแวดล้อม

คุณเบียร์ เจ้าของแบรนด์น้ำพริกแคบหมู เล่าว่า จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากช่วงโควิดเริ่มระบาด ยายน้อยแม่ของคุณเบียร์ อยากมีรายได้เพิ่ม ลูกๆจึงช่วยกันทำสินค้าขึ้นมาให้ขาย

คุณเบียร์ รับบทเป็นนักการตลาด ทำเพจเฟซบุ๊ก ลงคอนเทนต์ ขายสินค้าให้ โดยมีน้องสาวช่วยจัดการภาพรวมในร้าน ใช้บุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนสนุก ตลก เริ่มโพสต์ขายแคบหมูลงบนโซเซียล ก็จะมีเพื่อนๆ มาแซวสินค้า เช่น “อร่อยเกินร้อย ให้น้อยสมชื่อ”  “กินแล้วตาย คายแล้วรอด”  “ดื่มน้ำทั้งมหาสมุทร ยังไม่หยุดติดคอ”  “กินแล้วไม่อ้วน เพราะส่วนใหญ่บ้วนทิ้ง” “ดีต่อใจ บรรลัยต่อฟัน” และ “คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ”

สโลแกนทั้งหมดนี้ถูกคิดมาจากเพื่อนๆและแฟนเพจช่วยคิดสโลแกน ทำให้คุณเบียร์ ปิ๊งไอเดีย เอาความตลกจากการถูกแซวๆ ถูกเหยียดสินค้าของตัวเองมาเป็นจุดขายและเปิดพื้นที่ให้ลูกเพจได้มาแซวด้วย จึงกลายเป็นที่มาของการตลาดแบบกลั่นแกล้งตัวเอง หรือ บูลลี่ มาร์เก็ตติ้ง (Bully Marketing)  

โดยทุกวันคุณเบียร์ ต้องคิดทำคอนเทนต์แนวบูลลี่ มาร์เก็ตติ้งสม่ำเสมอ ทำให้เพจเฟซบุ๊กได้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ มีผู้ติดตามเพจเกือบ 300,000 คน  รวมถึงคอนเทนต์ภาพ วิดีโอ รีวิวสินค้า และมุขตลกที่ปรากฎในเพจเฟซบุ๊ก ก็ถูกส่งมาจากลูกเพจสัดส่วนถึง 50 %  ส่วนอีก 50 % ทางคุณเบียร์จะเล่นกับคอนเทนต์กระแสในช่วงเวลานั้นๆ

สินค้าแบรนด์ น้ำพริกแคบหมูยายน้อย ได้แก่ น้ำพริกแคบหมู แคบหมูล้วน น้ำพริกปลาทูฟู และน้ำพริกกุ้งเสียบ ราคาเริ่มต้น ขีดละ 50 บาท สำหรับ ช่องทางการจัดจำหน่าย เน้นช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้งทางเพจเฟซบุ๊ก และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง ช้อปปี้ (Shopee) ส่วนช่องทางออฟไลน์ ใช้วิธีการออกบูธตามห้างสรรพสินค้าเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการพบปะกลุ่มลูกค้าที่รู้จักและติดตามแบรนด์อยู่แล้ว และเป็นการเปิดตลาดให้ลูกค้ารายใหม่ๆได้รู้จักแบรนด์เพิ่มขึ้น สามารถสร้างยอดขายต่อเดือนได้ถึง 6 หลัก

คุณเบียร์ เชื่อว่า ปัจจัยที่แบรนด์สามารถยืนระยะมาจนถึงวันนี้ และยังทำคอนเทนต์แบบบูลลี่สินค้าตัวเองได้แบบต่อเนื่องทุกวัน เพราะความเป็นตัวตนที่สนุกและตลกของเขาอยู่แล้ว จึงไม่ได้รู้สึกฝืนกับสิ่งที่ทำและทำได้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมแนะนำคนที่อยากทำธุรกิจ หรือ อยากทำการตลาดในรูปแบบนี้ให้พิจารณาก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่คุณชอบ และทำได้ดี เพราะจะทำให้ไม่รู้สึกฝืนในการทำทุกๆวัน และจะยืนระยะยาวได้

“แนะนำคนอยากทำธุรกิจ มันต้องหาตัวเองก่อน ว่าตัวเอง ชอบอะไร เราสามารถเอาตัวเอง ไปบวกกับสินค้า ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปได้อย่างน้อยเวลาเราทำมันไม่เหมือนทำงาน มันยืนระยะยาวได้แต่ว่ายอดขายจะดีไหม อันนั้นอีกเรื่อง ถ้าไม่ได้ เราก็ค่อยคิดใหม่” : ศรัญญู เพียรทำดี เจ้าของแบรนด์น้ำพริกแคบหมูยายน้อย

 

 

 

การตลาดแบบบูลลี่ เหนื่อยตามกระแส แต่คุ้มเมื่อสร้าง Community Marketing ได้

ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์  อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้มุมมองด้านการตลาดว่า ปัจจัยที่ทำให้แบรนด์น้ำพริกแคบหมูยายน้อยเป็นที่รู้จักในช่วงโควิด-19 ระบาด เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่ต้องกักตัว หรือ ทำงานจากที่บ้าน ต้องการคอนเทนต์ที่มีความสนุก และผ่อนคลาย รูปแบบการตลาดแบบบูลลี่ของแบรนด์นี้จึงแจ้งเกิดได้ในช่วงเวลานั้น และเจ้าของแบรนด์ฉลาดในการสร้างความแตกต่าง เมื่อรู้ว่าตนเองเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดช้ากว่าเจ้าอื่น จึงต้องหาความแตกต่างให้คนหันมาสนใจ

ส่วนความท้าทายของแบรนด์ที่นำการตลาดแบบบูลลี่มาใช้ในการสื่อสารการตลาด คือ ความยากในการรักษาคาแรคเตอร์ หรือ ตัวตนของแบรนด์ เพราะถ้าวันหนึ่งแบรนด์เกิดบูลลี่ไม่เก่งจะทำให้เสียตัวตน ภาพลักษณ์ไม่ชัดเจน และหากแบรนด์ชอบเล่นกับคอนเทนต์กระแสโซเซียล ก็จะมีความเหนื่อยของแบรนด์ที่ต้องเจอ เพราะต้องติดตามกระแสของคอนเทนต์ตลอดเวลา

แต่ในขณะเดียวกัน หากเจ้าของแบรนด์สามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกเพจได้อย่างเหนียวแน่น พื้นที่ตรงนี้ก็จะกลายเป็น การตลาดชุมชน หรือ คอมมิวนิตี้ (Community Marketing) ที่คุ้มค่า เพราะแบรนด์จะสามารถนำข้อมูลลูกค้ากลุ่มนี้ไปต่อยอดในการสร้างยอดขาย สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relationship management) เพื่อให้ลูกค้าพึ่งพอใจในสินค้าอย่างสูงสุดต่อสินค้า

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ