2 นักเศรษฐศาสตร์ ฝากรัฐบาลใหม่ ห่วงนโยบายขึ้นค่าแรง - แจกเงิน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผ่ามุมมอง 2 นักเศรษฐศาสตร์ ถึงรัฐบาลใหม่ พร้อมวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 66 ท่ามกลาง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย แบงก์ล้ม

ในงานสัมมนา ถึงเวลาก้าวสู่ทรงใหม่ ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2566 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งในหัวข้อทิศทางเศรษฐกิจไทย 2566 ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และสถานการณ์วิกฤตธนาคารในต่างประเทศ

คาดประชุมเฟด 21-22 มี.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่งสัญญาณจบดอกเบี้ยขาขึ้น

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ยืนยันตัวตนสำเร็จภายใน 26 มี.ค.เริ่มใช้สิทธิ 1 เม.ย.นี้

2 นักเศรษฐศาสตร์  คือ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร และ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะต่อรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต

ห่วงนโยบายค่าแรง-คาดเลือกตั้งกระตุ้นจับจ่ายระยะสั้น

เริ่มที่ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวถึง การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น จะกระตุ้นให้คนใช้จ่ายมากขึ้นแต่เป็นระยะสั้น แต่ภาพรวมใหญ่ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร มีเสถียรภาพหรือไม่ จะผลักดันเศรษฐกิจระยะยาว-ระยะสั้นอย่างไร

เนื่องจากไทยมีปัญหาการฟื้นตัวที่ไม่เต็มที่ ต้องหาทางทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ และต้องเน้นมาตรการในเฉพาะจุดมากขึ้น โดยเฉพาะดูแลกลุ่มคนเปราะบาง

สำหรับความท้าทายของไทย อยู่ที่โครงสร้างประชากร เศรษฐกิจเติบโตช้าลง ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีผลแค่ระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาปากท้องที่ยกระดับศักภาพของประชาชนได้

นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลคือ นโยบายหลายพรรคที่จะขึ้นค่าแรง แต่กลับไม่ได้พูดว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ต้นทุนเท่าไหร่ และนำเงินที่ไหนมาจ่ายตรงนี้

ส่องดอกเบี้ยเฟด ท่ามกลางเงินเฟ้อยังสูง

กรณีดอกเบี้ยสหรัฐ ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด พยายามขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด แต่เงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อปัญหาสภาพคล่องธนาคารทำให้ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น ปัจจัยนี้อาจทำให้มีผลต่อความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน้อยลง

ปัญหาใหญ่ของสหรัฐฯ คือเงินเฟ้อสูงอยู่เกินจากเป้าที่ 2% ซึ่งตอนนี้เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ 4% จึงยังมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย และเชื่อว่า เฟด จะขึ้นอีก 0.25%

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในวันพุธ (22 มี.ค.) ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (23 มี.ค.) ตามเวลาไทย  

มอง กนง.อาจขยับดอกเบี้ยขึ้นใกล้ 2%

ส่วนประเทศไทย เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงแล้วและคาดว่าจะลดลง ทำให้การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจขยับขึ้นใกล้ 2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าเกิน 2% เนื่องจากความท้ายเงินเฟ้อลดลง และสัญญาณความเสี่ยงสภาพคล่องเริ่มมากขึ้น (การประชุม กนง.จะมีขึ้นในวันที่ 29 มี.ค.2566) ส่วนภาคส่งออกคาดว่าครึ่งปีแรกยังคง “ติดลบ” แต่เชื่อว่าเริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลังจากที่จีนเปิดประเทศและเศรษฐกิจโลกดีขึ้น

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 66 จะเติบโตที่ 3% แต่ยังฟื้นไม่เต็มที่ เพราะในหลายภาคส่วนยังคงถูกแช่แข็ง เช่น กลุ่ม SMEs และครัวเรือน

การฟื้นตัวเศรษฐกิจกลับมาช้ามาก หลายภาคส่วนยังเจอปัญหา ทั้ง SMEs และครัวเรือน ที่ได้รับกระทบจากรายได้ที่หายไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา  สอง คือ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียม แม้ภาคบริการกลับมาดีในปีนี้ แต่ยังมีปัจจัยหลายเรื่อง เช่นภาคส่งออก ภาคผลิต ที่ได้รับผลกระทบ รายได้การท่องเที่ยวกระจุกตัวไม่กี่จังหวัด ดังนั้นต้องใช้เวลาฟื้นตัว 

ดร.พิพัฒน์ กล่าว

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอาจมีความเสี่ยงถดถอยเบาๆ

ซึ่งยังมีปัญหาภาคการเงินอาจกระตุ้นความเสี่ยงให้เกิดการชะลอตัวมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐและธนาคารกลางต่างๆ ในตอนนี้จึงมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่องถ้าหากจำเป็น และต้องมีการสร้างความมั่นใจ ด้วยการขยายประกันเงินฝาก เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไป

"ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป มองว่ามีโอกาสถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี แต่เชื่อว่าถดถอยเบาๆ และไม่ถดถอยหนักมาก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ผ่านมายังดีอยู่ ปัญหาสำคัญคือเงินเฟ้อยังสูง จึงเป็นประเด็นที่สำคัญถ้าเงินเฟ้อไม่ลง ธนาคารกลางก็จะขึ้นดอกเบี้ย และเบรกเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ ในอดีตกว่าจะเอาเงินเฟ้อลงได้ ก็พาเศรษฐกิจถดถอยได้เหมือนกัน"  ดร.พิพัฒน์ กล่าว

Bank Run ยังคงน่าเป็นห่วง

สิ่งที่สำคัญของภาคธนาคารคือความมั่นใจ รัฐต้องอัดฉีดสภาพคล่อง เพิ่มวงเงินประกันเงินใสก ช่วยทำให้ความมั่นใจกลับมา และวิกฤตครั้งนี้ข้อดีคือเกิดปัญหาแค่สภาพคล่อง และความมั่นใจ ยังไม่เกิดปัญหากับทุนของธนาคารที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่ต้องกังวลคือ ยังไม่ทราบว่าจะลุกลามไปแค่ไหน

 

ย้ำนโยบายรัฐบาลใหม่ต้องไมใช่แจกเงินอย่างเดียว

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มองว่า สิ่งที่อยากได้จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ ต้องไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว แต่ต้องสร้างงาน โอกาสการฟื้นตัวชุมชน ทำให้เงินสะพัดมากขึ้น และสวัสดิการยังคงมีอยู่ แต่เน้นเฉพาะจุดมากขึ้น

รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดต่างๆ และรัฐต้องดูดการลงทุนภาคเอกชนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเจรจาการค้าเสรี ถ้าไม่ได้สิทธิประโยชน์จากภาษีมากนัก ต่างชาติอาจจะลังเลลงทุนในไทย และหันไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

ส่งออกไทยไม่ดีนัก วิกฤตแบงก์ต่างประเทศไม่กระทบมาก

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย   ระบุว่า จากการกรณีธนาคารล้มละลาย และปัญหาธนาคารเครดิตสวิส มองว่าเป็นปัญหาเพียงเฉพาะจุดมากกว่า ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการเติมสภาพคล่อง ส่วนไทยในไทยยังไม่กระทบเยอะ เพราะมีกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่ และธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีความเข้มแข็ง

ขณะที่ภาคส่งออกไทยตอนนี้ยังไม่ดูดีนัก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปยุโรป แม้จะยังหวังส่งออกไปที่จีนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง เพราะจีนนำเข้าสินค้าจากไทยและอาเซียน เพื่อนำไปส่งออกในตลาดโลก ดังนั้นอาจส่งผลนำเข้าของจีนอาจชะลอตัว ยกเว้นการนำเข้าสินค้าบริโภคที่ยังไม่ลดลง จากความต้องการในประเทศ

ในด้านคาดเงินบาทคาดว่าจะอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าราว  33 บาทต่อดอลลาร์ ในปลายปี 66 จากปัจจัยหนุนสหรัฐฯใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย และยังคงไว้ระดับสูง แต่ยังต้องระวังในเรื่องเงินบาทแข็งค่าเร็ว จากปัจจัยหนุนรายได้ภาคท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไดเร็ว

สำหรับเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 3.4% แม้ว่าภาคส่งออกยังคงมีความเสี่ยง แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าปีที่ผ่านมา

ยังต้องระวังหนี้ครัวเรือน

โดยแรงสนับสนุนหลักมาจากภาคท่องเที่ยว สิ่งที่เกี่ยวข้องคือการบริโภคภาคเอกชน  คนไทยใช้จ่าย  ทั้ง โรงแรม ร้าน อาหาร เครื่องดื่ม เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระดับกลางถึงบน แต่ในระดับล่างยังไม่คึกคัก เติบโตต่ำ ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจไทยยังคงกระจายตัวไม่ดี และยังต้องระหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง ดังนั้นต้องระวังการใช้จ่ายในยุคดอกเบี้ยสูง

"การฟื้นตัวไทยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ของเราฟื้นตัวช้า เพราะเน้นการท่องเที่ยว มองว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะกลับมา 25-30 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้ว แต่ต้องรอความชัดเจนในครึ่งหลังของปี จากจีนเปิดประเทศมากขึ้น แต่เศรษฐกิจไทย ยังไม่มีปัญหาการกระจายตัว รายได้ท่องเที่ยวยังกระจุกบางจังหวัดที่สำคัญ ยังไม่ได้ไปต่างจังหวัด รวมถึง SMEs ที่ยังได้รับผลกระทบ และกลุ่มเกษตร ที่รายได้ยังโตช้า ต้นทุนสูง ต้องหวังพึ่งว่าการฟื้นตัวจะกระจายตัวอย่างไร"

ดร.อมรเทพ กล่าว

เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ คาดดอกเบี้ยหยุดที่ 1.75%

สำหรับดอกเบี้ยของไทยคาดว่าจะหยุดจะอยู่ที่ 1.75%  เนื่องจากเงินเฟ้อลดลงตามกรอบไวขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงต่างประเทศ ทั้งปัญหาธนาคารในสหรัฐและยุโรป อาจฉุดการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง กับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์  และกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์อาจได้รับผลกระทบ

แม้มีอาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร ได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปจีน  แต่ยังอาจไม่มากพอที่จะชยเชยผลกระทบได้ จึงทำให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตไทย ยังคงมีปัญหา ดังนั้นคาดว่า ธปท.จะชะลอขึ้นดอกเบี้ยออกไป เพื่อดูสถานการณ์ในประเทศก่อน

นอกจากนี้ ประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะยังขึ้นดอกเบี้ย แม้มีความเสี่ยงเรื่องธนาคาร เพราะปัญหาหลักคือเงินเฟ้อสูง คาดดอกเบี้ยจะขึ้นไปอยู่ระดับ 5.25% ถ้าเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งได้อีก และเฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยที่แรงกว่าเดิม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะยาว 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสหรัฐฯจะสามารถรับมือดอกเบี้ยได้ และไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย เพียงแต่เติบโตช้าลง

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ