ทำความรู้จักทีมพัฒนา covid-lab ที่เริ่มจากคนใกล้ตัว สู่สาธารณชน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทำความรู้จักทีมโปรแกรมเมอร์ covid-lab เริ่มจากคนใกล้ตัวหาที่ตรวจไม่ได้ และถึงมีข้อมูลกลับใช้งานยาก จึงลงมือเขียนโค้ดเอง

การตรวจโควิดในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่ใช้ชุดทดสอบด้วยตัวเอง หรือ Antigen test kit แต่ถ้าอยากเข้ากระบวนการรักษา แบบจริงจัง ต้องมีผลตรวจแบบ RT-PCR  หรือใครที่อยากเดินทางไปต่างประเทศ ต้องมีเอกสารรับรอง แล้วจะตรวจที่ไหนได้บ้าง กลายเป็นคำถามที่ใครหลายคนอาจาคำตอบไม่ได้ แม้ปัจจุบันการหาข้อมูล อาจไม่ยาก แต่ความยากอยู่ที่ข้อมูลไม่มาในรูปแบบที่ง่ายต่อการค้นหา 

ออกซ์ฟอร์ดเผย ติดโควิด-19 เสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าฉีดวัคซีน

ปชช.วอนรัฐแก้ปัญหาจุดตรวจโควิด-19

 

ทำให้มีทีมนักพัฒนาระบบอาสา ทีมหนึ่งรวมตัวกันทำเว็บไซต์ https://covid-lab.co ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนทั่วไป สามารถค้นหาแล็บตรวจโควิด อย่างง่ายๆ โดยทีมข่าว พีพีทีวีออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุย กับ "เพชร เครือพานิช" โปรแกรมเมอร์หนุ่ม วัย 34 ปี หนึ่งในทีมพัฒนา เกี่ยวกับแนวคิดการจัดทำเว็บไซต์ https://covid-lab.co/source 

จุดเริ่มต้นในการสร้างเว็บไซต์

เพชร บอกเล่าให้เราฟังว่า การจัดทำเว็บเริ่มขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากคนใกล้ชิด ทั้งพี่สะใภ้ของแฟน ทั้งเพื่อนที่ใกล้ชิด กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด ต่างต้องหาที่ตรวจเพื่อยืนยันผลว่าติดโควิดหรือไม่  แต่ด้วยข้อมูลที่มีบนเว็บไซต์ ค่อยข้างยากต่อการเข้าถึง  แม้จะเจอก็เป็นลักษณะไฟล์รูปภาพ ไฟล์ PDF ซึ่งดูยาก 

แม้ตัวเองที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และเว็บไซต์ ช่วยหาก็ยังรู้สึกว่าหายากอยู่ดี และยิ่งความที่คนใกล้ตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ยิ่งสร้างความกังวลให้กับตัวเอง และทุกครั้งที่โทรสอบถามบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ได้รับคำตอบว่าไม่เป็นไร ค่อยๆ หาไป รวมถึงคนรอบข้างต่างบอกว่าให้ใจเย็น แต่น้ำเสียงของทุกคนไม่ได้สบายใจ และใจเย็นอย่างที่พูดออกมา  แต่ทุกคำกลับเคลือบไปด้วยความกังวล 

จึงกลายเกิดคำถามอยู่ในใจว่าทำไมไม่มีมีเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลแล็บตรวจโควิดให้หาง่ายกว่านี้ หรือ ด้วยความที่เจ้าตัวเป็นโปรแกรมเมอร์ มีความรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดสร้างเว็บไซต์อยู่แล้ว ก็เลยชวน อู เดชชาติ บุญประกอบ เพื่อนรุ่นพี่ ที่มีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับ DATA ต่างๆ มาระดมสมองคิดหาวิธีทำทุกอย่างให้มันง่ายขึ้น 

โดยอู ในฐานะที่มีความคุ้นเคย กับการทำงานด้านข้อมูล ได้ให้คำแนะนำว่ามีเว็บไซต์ชื่อ data.go.tg ที่เปิด Open API ให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อแล็บ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (https://data.go.th/dataset/labscovid19)

แต่ข้อมูลดังกล่าว คนที่รู้ก็มักจะเป็นกลุ่มนักพัฒนา และอาจจะใช้ยากสำหรับคนที่งไป ซึ่งในนั้นมีข้อมูลแล็บอยู่ 349 แห่ง  นั่นจึงกลายเป็นข้อมูลตั้งต้นในการจัดทำเว็บ 

ทั้ง 2 เริ่มลงมือทำในช่วง 5 ทุ่มของคืนนั้นทันที ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง พาสแรกของเว็บก็เสร็จ แต่นักพัฒนาทั้ง 2 สังเกตเห็นจุดบอดของข้อมูล ที่ทำว่ามันไม่มีความอัพเดต ไม่สามารถแจ้งพิกัด หรือมาร์คโลเคชั่น ได้ และถ้าปล่อยออกมาในเชิงด้านคนทำเว็บมองว่ามันต่อยอดไม่ได้  

เพชร จึงชวน "ตั๊ก พัชร์พิริยะ พิมเผือก" เพื่อนที่เป็นนักพัฒนาโปรแกรมเช่นกัน มาช่วยกันลงมือคลีนข้อมูลที่มีให้ทุกอย่างอัพเดทเท่าที่จะทำได้ ในกำลังของคน 3 คน แล้วก็เปิดตัวเว็บในวันรุ่งขึ้น โดยเพชร ตัดสินใจโพสต์ลงโซเชียลมีเดียในช่องทางของตัวเอง เพื่อนทั้ง 2 ก็ทำด้วยเช่นเดียวกัน 

เพชร เครือพานิช
เพชร เครือพานิช

งานมาราธอน ปัญหาที่ไม่มีวันจบ 

หลังเปิดตัวเว็บไซต์ไปเพียง 1 วัน เพชร ยอมรับว่าในทีมพัฒนา ยังคงพบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่อง ข้อมูลแล็บที่ปรากฎในเว็บไซต์ เมื่อนำไป search กลับไม่ตรงกับชื่อใน Google Map ส่งผลให้คนที่จะเดินทางไป ไปผิดที่ , แล็บที่เราขึ้นว่ายังเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบัน ปิดรับการตรวจแล้ว 

ดังนั้นทีมต้องมีข้อมูลต้องอัพเดทแบบวันต่อวัน แม้จะมีการเขียนโปรแกรมมารองรับช่วยในการสกรีนข้อมูลแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องเช็กข้อมูลด้วยวิธี manual ทั้งการดูในเพจทางการของแล็บนั้นๆ หรือโทรเช็ก เพราะถ้าข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ ไม่ถูกต้อง นั่นคือการด้อยค่าให้เว็บตัวเองไม่มีความน่าเชื่อถือในทันที 

เพชร ยอมรับแบบลูกผู้ชาย ว่าการเช็กข้อมูล ให้มีความอัพเดต เป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบัน ทีมงานยังมีขีดความสามารถในการอัพเดตไม่ 100 % แต่ทุกคนก็พยายามทำอย่างสุดความสามารถ 

รวมถึงต่อยอดคำร้องขอจากแต่ละคอมเมนต์ ที่เข้าไปทดลองใช้ ที่อยากให้เพิ่มฟีเจอร์ เรื่องการแจ้งพิกัดตรวจโควิดฟรี , ที่ไหนเปิดรับตรวจแบบ Walk in  หรือตรวจแบบ drive thru รวมไปถึงช่วยแจ้งเรื่องแล็บไหนรับตรวจแบบ RT-PCR  หรือ  Antigen test kit  หรือแบบ  Fit to fly 

และอีกหนึ่ง ปัญหาที่เจอ และได้รับคอมเมนต์กลับมา คือ URL ที่ใช้ในตอนแรก ดูเหมือน Spam ที่จะเข้าไปล้วงข้อมูล ผู้ใช้งาน ซึ่งตรงนี้ทีมก็ได้แก้ปัญหาด้วยการไปจดทะเบียนโดเมนเป็นที่เรียบร้อย 

อู เดชชาติ บุญประกอบ

หยุดพัฒนาเว็บแต่เปิดข้อมูลให้คนอื่นช่วยต่อยอด

ขณะเดียวกันทีมงานยังได้ถามถึงการพัฒนาเว็บไซต์  ที่จะมีการต่อยอดให้มันดีขึ้นกว่านี้หรือไม่ เพชร บอกกับเราว่า ไม่คิดจะพัฒนาอะไรต่อยอดไปมากกว่านี้แล้ว อาจจะมีแค่การเพิ่มตัวช่วยในการค้นหาต่างๆ สะดวกขึ้น เพราะส่วนตัวเขามองว่า ตัวเองและทีมมีความแข็งแกร่งเรื่อง การรวบรวมข้อมูล จัดการข้อมูลให้ได้มาตรฐานการติดตามข้อมูล และทำให้ข้อมูลมีความพร้อมมากที่สุด

อีกทั้งเขายังมองว่า ข้อมูลที่มีอยู่นั้นเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าสูง (high value datasets) จึงอยากปล่อยให้คนอื่นเอาไปต่อยอดมากว่า เพราะทางทีมเชื่อว่า ด้วยขีดความสามารถในการทำเว็บไซต์ ถ้าให้ทีมของเขาเป็นคนทำ ก็ทำได้ดีเพียง 1-2 เว็บ แต่ถ้าเปิดข้อมูลเป็น Open API ก็จะมีคนนำไปต่อยอดอีกมากมาย

ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีหลายคนที่เอาไปต่อยอดแล้ว เช่น ไลน์แชทบอท @AskMedTech, เว็บรวมแล็บในรูปแบบแผนที่ เหมือนจิตอาสา .care
 

 พัชร์พิริยะ พิมเผือก
 พัชร์พิริยะ พิมเผือก


Feedback ที่เกินคาดหมาย 

เมื่อพูดคุยกันมาสักพัก ทีมงานจึงได้ถามถึง Feedback ที่ได้รับจากการปล่อยเว็บนี้ไป คำตอบที่ได้จากหนุ่มโปรแกรมเมอร์นักพัฒนาคนนี้ คือ "มันเจ๋งมาก" เพราะเว็บไซต์นี้ทำให้เขาได้รู้จักกับทีมโปรแกรมเมอร์คนอื่น ทีมจิตอาสาทีมอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยพัฒนาเว็บ  และแชร์ข้อมูลร่วมกัน บอกต่อ และกระจายข้อมูลให้ประชาชนทั่วไป ที่จำเป็นต้องใช้งานได้รับรู้และสามารถใช้งานได้ ก็ยิ่งทำให้เจ้าตัวแฮปปี้ เพราะนั่นหมายถึงตัวเขาบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก 

หลังจบการสนทนา ทีมข่าว ยอมรับเลยว่าทีมงาน covid-lab ทำเว็บนี้ด้วยใจของคนอยากช่วยคนไทยด้วยกันเองจริง เพราะมูลค่าที่ต้องจ่ายเป็นตัวเงินมีเพียงแค่ค่าจดโดเมน 300 บาทเท่านั้น ส่วนค่าฝีมือในการทำเว็บไซต์ หรือคนที่มาช่วย ไม่มีใครคิดค่าใช้จ่ายเลยสักบาทเดียว และถ้าใครกำลังมีปัญหาในการหาแล็บตัวโควิดอยู่ ลองเข้าไปที่ https://covid-lab.co คุณอาจจะได้คำตอบว่าตรวจได้ที่ไหน แต่ถ้าใครอยากจะชมฝีมือนักพัฒนาที่นำข้อมูล Covid-Lab ไปต่อยอด ก็เข้าไปทดลองได้ใน  แชทบอท ไลน์ @AskMedTech  หรือ https://lin.ee/WwFc55E ซึ่งจัดทำขึ้น โดยทีมนักเทคนิคการแพทย์อิสระ โดยแชทนี้จะช่วยให้คำตอบเรื่องชุดตรวจตามบ้าน

 

หรือหากใครต้องการแนะนำแล็บตรวจโควิดเพิ่มเติม หรือต้องการช่วยแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถเข้าไปแจ้งได้ที่ https://bit.ly/covid-lab-form หรือ ในเว็บไซต์ https://covid-lab.co ได้เช่นกัน

เพราะทุกข้อมูลที่ทุกคนแบ่งปัน อาจจะช่วยให้ใครบางคนให้คลายความกังวัล และเข้ารับการตรวจ เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

เว็บอ้างอิงแผนที่ 
https://covid-test-th.firebaseapp.com/
https://vallaris_example.i-bitz.world/vallaris-example/covid_tester/


 

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ