เช็กคุณสมบัติและวิธีการเตรียมตัว ก่อนจะไปบริจาคเลือด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คลังเลือดขาดแคนไม่เพียงพอในการช่วยชีวิต สภากาชาดจึงเชิญชวนประชาชนไปบริจาคโลหิต แต่รู้หรือไม่ว่าการจะบริจาคเลือดได้นั้นต้องมีคุณสมบัติและต้องเตรียมตัวให้ดีไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถบริจาคได้

“โลหิต” หรือ “เลือด” เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญในการใช้รักษาผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดมาทดแทนเลือดได้ จึงจำเป็นที่ต้องรับบริจาคโลหิตจากคน เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตในการนำไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดทุกวินาที แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยการรับโลหิตต่อเนื่องตลอดชีวิตกว่าร้อยละ 23 และอีกร้อยละ 77 สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุเพื่อใช้ในการผ่าตัด และกลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคนานาชนิด 

สภากาชาดไทย วอน บริจาคเลือด หลังขาดแคลนเลือด ขั้นวิกฤต

ด่วน! เลือดหมดคลังทั่วประเทศ กระทบผู้ป่วย ย้ำฉีดวัคซีนโควิดบริจาคได้

การบริจาคโลหิต” คือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ 

และในการบริจาคเลือดนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เพราะทางสภากาชาดได้มีการกำหนดคุณสมบัติ พร้อมวิธีการเตรียมตัวก่อนการบริจาคไว้ ถ้าคุณสมบัติไม่ครบและเตรียมตัวมาไม่พร้อมก็ไม่สามารถบริจาคได้

โดยคุณสมบัติของผู้จะบริจาคเลือดได้นั้นต้องมีดังนี้ 

1. ต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ 
     ผู้บริจาคโลหิตมีความปกติทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน อาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่นๆ

2. มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป 
    การที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไปเมื่อบริจาคเลือดไปแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้
ถ้าอาการหนักหน่อยก็อาจจะถึงขั้น shock เข้าโรงพยาบาลไปหลายวัน..เพราะร่างกาย สร้างเลือดไม่ทันซึ่งเป็นอันตรายมาก

3. อายุตั้งแต่ 17 - 70 ปี 
    3.1  ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17- 70 ปี (อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง)

    3.2 บริจาคโลหิตครั้งแรก อายุไม่เกิน 60 ปี

    3.3  ผู้บริจาคที่มีอายุ 60-65 ปี  เป็นประจำสม่ำเสมอ บริจาคได้ทุก 3 เดือน ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 

    3.4 ผู้บริจาคที่มีอายุ 65-70 ปี เป็นประจำสม่ำเสมอ บริจาคได้ทุก 6 เดือน  และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่ 

4. การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง 
    การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องนอนถึง 8 ชั่วโมง เพียงสามารถนอนได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ เพียง 5-6 ชั่วโมง ถ้านอนหลับสนิท ตื่นมารู้สึกสดชื่น ไม่ผิดไปจากกิจวัตรเดิม และสามารถทำงานได้อย่างปกติ 

5. ไม่มีประวัติป่วย เป็นโรคร้ายแรง หรือโรคติดต่อทางกระแสเลือด 
       หากผู้บริจาคมีโรคร้ายแรง หรือที่สามารถติดต่อทางกระแสเลือด ควรงดบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต
        ส่วนผู้ป่วยที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด 19 (COVID-19) ปัจจุบันอ้างอิงจากประกาศศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ที่ 10/2563 เรื่อง มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทางโลหิต ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ให้งดบริจาคโลหิตเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในกรณีดังต่อไปนี้
          1. ท่านเดินทางมาจากต่างประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยง (สถานบันเทิง บ่อนการพนัน สถานที่แออัด)
          2. อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19
          3. หลังจากหายป่วยจากโรค COVID-19
(ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของโรค COVID-19)

6. ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ 
     6.1 ท่านหรือคู่ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์กับ : ผู้ที่ไม่ใช่คู่ของตนเอง / ผู้ทำงานบริการทางเพศ/ ผู้เสพยาเสพติด / ผู้ที่อาจติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หากผู้บริจาคโลหิตและคู่ มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตเช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อกำหนดให้งดบริจาคโลหิตอย่างไม่มีกำหนด 

    6.2 ท่านเป็นเพศชายที่เคยมีเพศกับเพศชายสัมพันธ์ ซึ่งอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสูงกว่าประชากรทั่วไปมาก และโอกาสที่จะมีผู้ที่อยู่ในระยะ window period ของการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มนี้สูงกว่าประชากรทั่วไป (window period คือ ระยะเวลาที่เพิ่งเริ่มติดเชื้อ ในร่างกายยังมีเชื้อจำนวนน้อย ไม่สามารถตรวจพบร่องรอยการติดเชื้อได้ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการแต่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับโลหิตได้) ข้อนี้จึงยังเป็นข้อกำหนดไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร

ศึกษา 340,000 คน พบหน้ากากอนามัยชะลอการระบาดโควิด-19 ได้จริง

สปสช. จ่ายเงินเยียวยาคนแพ้วัคซีนโควิดไปแล้ว 110 ล้าน เผยกทม.ยื่นคำร้องมากที่สุด

 

สำหรับการเตรียมตัวในการบริจาคโลหิต 

ก่อนบริจาคโลหิต
     * นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง

     * รู้สึกสบายดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต หากอยุ่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล ผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพทุกครั้ง

     * รับประทานอาหารประจำมื้อก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิขนมหวาน ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ 

    * การดื่มน้ำก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคโลหิตได้

    * งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

    * งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต
     * สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว

    * เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

    * ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต

    * ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติระหว่างบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

หลังบริจาคโลหิต
    * นอนพักที่เตียง 5 นาที หากไม่มีอาการผิดปกติ จึงลุกจากเตียง และไปนั่งพัก 10 -15 นาที พร้อมดื่มเครื่องดื่ม และรับประทานอาหารว่าง

    * ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

    * รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ

    * หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้

    * หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคโลหิต เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

    * หลีกเลี่ยงการเดินไปในบริเวณที่แออัด และมีอากาศร้อนอบอ้าว

    * งดกิจกรรมหรือทำงานที่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูง ความลึก เครื่องจักรกล

    * งดออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง


 

ข้อมูลจาก สภากาชาดไทย

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ