เปิด 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ รู้ให้ทันป้องกันการตกเป็นเหยื่อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รู้ทัน 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ พร้อมรู้จักช่องทางร้องเรียนเพื่อรับมืออย่างทันท่วงที

แนวโน้มการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อย่างในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น 150% หนึ่งในพฤติกรรมยอดฮิตคือ การซื้อของออนไลน์ แต่จากข่าวช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีคนถูกหลอก ถูกโกง ซื้อของไม่ได้ของ พอได้มาไม่ตรงปกก็มี
อ้างอิงจากสถิติของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า มค.-ส.ค 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง/เดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้ง/เดือน 

รู้ทันกลโกง "ซื้อ-ขาย" ออนไลน์

ช้อปออนไลน์ให้คุ้ม กับเทคนิคง่าย ๆ ปลอดภัย ไม่ถูกโกง

โดย 10 กลโกงยอดฮิตซื้อขายออนไลน์ ได้แก่
1."หลอกโอนเงิน ชวดหนี ไม่มีสินค้าส่งจริง"
จุดสังเกตคือ มักจะตั้งราคาที่ถูกเกินจริง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและตัดสินใจโอนเงิน จากนั้นจะบล็อกการติดต่อทุกช่องทาง ซึ่งเราสามารถเช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) ฯลฯ เป็นต้น

2."สินค้าไม่ตรงปก"
หลายรายพบว่า เมื่อของที่สั่งมาส่งแล้ว กลับได้ไม่ตรงกับที่โฆษณา ผิดสี ผิดขนาด สินค้าเป็นคนละอย่างกับที่สั่ง บางครั้งจะติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราได้รับสินค้า ควรถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้

3."จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม"
พฤติกรรมร้านค้าลักษณะนี้ มักจะโพสต์รูปสินค้าแบรนด์เนมแท้ขายบนช่องทางออนไลน์ หลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อ แต่สุดท้ายกลับได้สินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าปลอมมาส่งที่บ้านแทน ดังนั้น ควรดูข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการดีกว่า

4."นักรับหิ้วของ แต่ไม่ได้ของ"
นักช้อปบางรายยอมเสียเงินเพิ่มนิดหน่อย เพื่อใช้บริการรับหิ้วของ แต่สุดท้าย เสียทั้งเงิน เสียทั้งโอกาส สินค้าก็ไม่ได้ ดังนั้น ควรตรวจสอบประวัติผู้รับหิ้วให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวหรือสั่งจากร้านโดยตรงจะดีกว่า

5. "หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย"
วิธีการนี้มักทำกันเป็นทีม ตีเนียนส่งของมาถึงหน้าบ้าน หลอกให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ ดังนั้น เมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องตั้งสติก่อน แล้วตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ และห้ามรับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งเด็ดขาด

6. “ได้รับของชำรุด เสียหาย”
อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทาง คือ ร้านค้า หรือระหว่างการขนส่ง ทางป้องกันคือ ตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อน โดยให้ร้านค้าถ่ายรูปส่งมาให้ แล้วเช็กประวัติการเดินทางของสินค้า นอกเสียจากว่าจะเจอร้านค้าหลอกขายสินค้าหมดอายุหรือไร้คุณภาพให้เรา และหากเป็นของที่เสี่ยงต่อการแตกหัก ต้องดูว่า ทางร้านมีประกันความเสียหายหรือไม่ อย่างไร ทางที่ดีควรศึกษาวิธีการส่งของร้านประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ

7. “หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์”
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ถูกกฎหมาย แต่คนโกงที่มาในรูปแบบตัวแทนขายก็มีเช่นกัน อย่างในกรณีถ้าเราถูกลอตเตอรี่ออนไลน์ แต่ตัวแทนขายนำลอตเตอรี่ของเราไปขึ้นเงินแล้วเชิดหนีก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรี่ให้ถี่ถ้วน

8. “เปลี่ยนโปรไฟล์หลอกเช่าพระบูชา”
ในวงการพระก็มีมิจฉาชีพ โดยเฉพาะรูปแบบการใช้รูปโปรไฟล์ปลอมมาหลอกให้ซื้อ โอนเงินแล้วชิ่งหนีพร้อมเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่หลอกคนไปเรื่อยๆ กรณีแบบนี้ ควรตรวจเช็กชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีธนาคารให้ดี เพราะโปรไฟล์เปลี่ยน แต่มิจฉาชีพมักใช้เลขบัญชีธนาคารเดิม อีกจุดสังเกต คือ หากเจอผู้ขายที่ชอบบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมส่งพระให้ คาดการณ์ได้เลยว่า เราอาจกำลังโดนโกง

9. “ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์”
ส่วนใหญ่จะต้องผ่อนให้ครบงวด แล้วร้านค้าจะจัดส่งสินค้ามาให้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่โดนโกง ดังนั้น ควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน ดูรีวิวผู้ซื้อต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขายอย่างรอบคอบ และควรเลือกร้านที่เป็นทางการ

10.“คนรักต้นไม้ร้องไห้ หลอกขายไม่ตรงรูป”
ควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้ พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ เพื่อช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง แล้วอย่าลืมเสิร์ชค้นหาข้อมูลผู้ขาย หรือขอวิดีโอคอลล์เพื่อตรวจสอบต้นไม้และให้ได้รับสินค้าตรงปก และก่อนโอนจ่ายเงิน ควรให้เจ้าของร้านถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ โดยถือบัตรประชาชนหรือกระดาษที่เขียนเลขที่บัญชีธนาคารมาให้ดูอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อกลโกง

ที่มา ETDA

 

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ