
รำลึก 26 มิ.ย. ‘วันสุนทรภู่’ กวีเอกของโลก เชกสเปียร์เมืองไทย
เผยแพร่
รำลึก 26 มิถุนายน ของทุกปี ‘วันสุนทรภู่’ เปิดประวัติกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกว่าเป็นเชกสเปียร์เมืองไทย
‘วันสุนทรภู่’ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึง ‘สุนทรภู่’ กวีเอกด้านวรรณกรรมไทย ผู้สร้างสรรคผลงานอันทรงคุณค่าตลอดชีวิตใน 4 รัชกาล จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘กวีสี่แผ่นดิน’ และยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “บุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก” อีกด้วย
สำหรับวันสุนทรภู่นั้น จะตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของกวีสำคัญแห่งรัตนโกสินทร์คนนี้
วันหยุดเดือนมิถุนายน 2565 และวันสำคัญที่ควรรู้ เช็กได้ที่นี่!
จับตาโควิด Ba.4 และ Ba.5 ทำปอดอักเสบ หนีภูมิ "ติดเชื้อ - วัคซีน" ได้
ที่ตรงกับ วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น. ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
ประวัติสุนทรภู่
‘สุนทรภู่’ เป็นชื่อที่คนทั่วไปมักรู้จักคุ้นหู โดยนำคำว่า ‘สุนทร’ จากบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ 2 และ 4 คือ ‘ขุนสุนทรโวหาร’, ‘หลวงสุนทรโวหาร’ และ ‘พระสุนทรโวหาร’ มารวมกับนามเดิม ‘ภู่’
สุนทรภู่ เกิดที่ริมคลองบางกอกน้อย ธนบุรี ใกล้บริเวณพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันสถานที่บริเวณพระราชวังหลัง คือ บริเวณที่เป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย โรงพยาบาลศิริราช และบริเวณใกล้เคียง)
ในปีที่สุนทรภู่เกิด บิดาเดินทางไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง และบวชอยู่ตลอดชีวิต ทำให้ในวัยเยาว์ สุนทรภู่อยู่พระราชวังหลังกับมารดา ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย และวิชาการต่าง ๆ ในสำนักพระภิกษุที่มีชื่อเสียง ที่วัดใกล้กับพระราชวังหลังตามที่มีหลักฐาน คือ วัดชีปะขาว หลังจากศึกษาเล่าเรียน จนมีวิชาความรู้เป็นอย่างดีแล้ว ในวัยหนุ่มสุนทรภู่ได้เป็นครูสอนหนังสือ หรือวิชาเสมียน ที่วัดชีปะขาว
แต่ด้วยใจรักด้านกาพย์กลอน จึงรับจ้างแต่งเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวาไปด้วย อาจเพราะลีลากลอนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและคารมที่คมคาย ทำให้สุนทรภู่กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากนั้นจึงได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี
ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเราศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
ผลงานของสุนทรภู่
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน จนได้รับยกย่องเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย” เนื่องจากได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และพระอภัยมณี เป็นต้น
โดยเรื่อง ‘พระอภัยมณี’ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ยังได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมอีกด้วย
ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่าน คือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม
อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ และการลงทุน ได้ที่ @PPTVOnline