ครบรอบ 53 ปี ครั้งแรกของมนุษย์ กับภารกิจพิชิตดวงจันทร์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ร่วมฉลองครบรอบ 53 ปี มนุษย์คนแรกเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ด้วยเรื่องราวเส้นทางภารกิจพิชิตดวงจันทร์ ก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติ

วันที่ 20 กรกฎาคม ตรงกับวันที่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Armstrong) มนุษย์คนแรกก้าวลงสู่พื้นผิวหลุมอุกกาบาตของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512  นับได้ว่าเป็นสำเร็จของวงการวิทยาศาสตร์และเป็นก้าวแรกของมวลมนุษยชาติ

เพื่อร่วมเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 53 ปี จึงขอระลึกถึงวันสำคัญนี้ด้วยการนำเรื่องราวเส้นทางของภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของมนุษยชาติมาเปิดเผยอีกครั้ง

จุฬาฯ วิจัยนวัตกรรมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รักษาเบาหวานในสัตว์เลี้ยงสำเร็จ!

อิหร่านร่างกฎหมายใหม่ “ใครครอบครองสัตว์เลี้ยงถือว่ามีความผิด”

สำหรับโครงการอะพอลโล เป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศเป้าหมายระดับชาติโดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ท่ามกลางสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต ภายใต้ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์นานาชาติขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) โดยเริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ 2505 และตั้งเป้าจะทำให้โครงการฯ สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2513 โดยโครงการอะพอลโลประกอบด้วย

  • อะพอลโล 1 (27 มกราคม 2510) เกิดอุบัติเหตุนักบินเสียชีวิต 3 คน
  • อะพอลโล 4 ทดสอบโครจรรอบโลก
  • อะพอลโล 5 ทดสอบโครจรรอบโลก
  • อะพอลโล 6 ทดสอบโครจรรอบโลก
  • อะพอลโล 7 ทดสอบโครจรรอบโลกโดยมีนักบิน
  • อะพอลโล 8 (21 ธันวาคม 2511) ทดสอบโคจรรอบดวงจันทร์
  • อะพอลโล 10 (18 พฤษภาคม 2512) ทดสอบโคจรรอบดวงจันทร์โดยมีนักบิน
  • อะพอลโล 11 (16 กรกฎาคม 2512) ลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรก
  • อะพอลโล 12 (14 พฤศจิกายน 2512) ลงจอดบนดวงจันทร์
  • อะพอลโล 13 (11 เมษายน 2513) เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ลงจอด
  • อะพอลโล 14 ลงจอดบนดวงจันทร์
  • อะพอลโล 15 ลงจอดบนดวงจันทร์
  • อะพอลโล 16 ลงจอดบนดวงจันทร์
  • อะพอลโล 17 ลงจอดบนดวงจันทร์ ครั้งสุดท้าย

แต่ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในโครงการอะพอลโล 11 (Apollo 11) โดย NASA ได้คัดเลือกนักบินอวกาศสำหรับโครงการฯ เพื่อไปดวงจันทร์จำนวน 3 คน ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong), บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) โดยนำส่งยานอวกาศออกจากโลกด้วยจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn V) จรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาและโลกเคยมีมา

ประกอบด้วย 3 ส่วนย่อยขึ้นสู่วงโคจรของโลก ได้แก่ ส่วนบัญชาการ (Command module) ส่วนเชื่อมต่อและขับเคลื่อน (Service module) และส่วนของยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือลูนาร์โมดูล (Lunar module) ก่อนที่ส่วนต่าง ๆ ของยานจะแยกตัวออกจากจรวดนำส่งและพุ่งทะยานไปยังดวงจันทร์ โดยนีล อาร์มสตรอง และบัซซ์ อัลดริน จะอยู่ในยานลูนาร์โมดูล เพื่อเตรียมลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ส่วนไมเคิล คอลลินส์จะอยู่ในยานบัญชาการโคจรวนรอบดวงจันทร์ระหว่างที่เพื่อนนักบินอวกาศอีกสองคนปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์

ภายหลังการออกเดินทางจากโลกในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นเวลากว่า 110 ชั่วโมง นักบินอวกาศ นีล อาร์มสตรอง ได้ก้าวลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์พร้อมปักธงชาติของสหรัฐฯ ตามมาด้วยเพื่อนร่วมทีมของเขาคือ บัซซ์ อัลดรินในอีก 20 นาทีต่อมา ทั้งสองใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เพื่อสำรวจ เก็บตัวอย่างหินบนพื้น และถ่ายภาพ หลังการสำรวจสิ้นสุดลง นักบินอวกาศทั้งสองกลับเข้าไปในยานลูนาร์โมดูล ก่อนจะจุดระเบิดเครื่องยนต์ให้บินขึ้นและกลับไปเชื่อมต่อกับยานส่วนบัญชาการได้สำเร็จ และเดินทางกลับสู่โลกได้เป็นอย่างปลอดภัย

สหรัฐฯทุ่มเททรัพยากรให้กับโครงการอะพอลโล 11 เป็นจำนวนมหาศาล โดยระดมกำลังบุคลากรเข้าทำงานในโครงการนี้ถึง 400,000 คน คิดเป็นงบประมาณถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 772,500 ล้านบาท ตามมูลค่าของเงินในสมัยนั้น

 เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ได้ถูกถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนที่ได้ชมราว 650 ล้านคน ได้เห็นถึงความสำเร็จและอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการสำรวจอวกาศของโลกอีกด้วย

โดยหลังโครงการอะพอลโล 17 ก็เกิดเหตุการณ์สงครามเวียดนามขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงได้ยกเลิกโครงการอะพอลโล 18-20 เพื่อลดงบประมาณลงไป และมนุษย์ก็ไม่ได้ไปเยือนดวงจันทร์อีกเลยนับแต่นั้นมา

แต่ในเร็ว ๆ นี้ มนุษยชาติกำลังจะกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยโครงการอาร์ทิมิส ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

 

ที่มา : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) และ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ