เปิดลิสต์หนังสือน่าอ่าน ก่อนไป “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” 12-23 ต.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดลิสต์หนังสือน่าอ่านจากเหล่าพลเมืองนักอ่าน ก่อนไปงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่จะจัดขึ้นในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 12-23 ต.ค.นี้

เหล่านักอ่านต่างตั้งตารอคอย มหกรรมหนังสือระดับชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม และในปีนี้จะจัดตรงกับวันที่ 12-23 ตุลาคม เวลา 10.00-21.00 น. โดยย้ายกลับมาเปิดบูธกันที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แล้ว ภายใต้แนวคิด “BOOKTOPIA: มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง

แต่ทำไมมหกรรมหนังสือระดับชาติถึงเป็นที่นิยมนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยได้จัดกิจกรรมพูดคุยแบบสบาย ๆ 

เที่ยว “วังเวียง” กุ้ยหลินเมืองลาว สัมผัสเสน่ห์ขุนเขา-สายน้ำ-ผู้คน

เที่ยว “ตลาดท่าฬ่อ” ไหว้เจ้าแม่ทับทิม ชิมอาหารพื้นถิ่นสูตรไหหลำโบราณ

 

ในหัวข้อ อ่าน-สร้าง-เมือง: แรงบันดาลใจจากการอ่านสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาตัวตน ชุมชน และเมือง โดยได้เชิญพลเมืองนักอ่าน (BOOKTOPIAN) จากหลากหลายวงการเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีใจความที่น่าสนใจดังนี้

 

มหกรรมหนังสือเปิดประสบการณ์ ชวนให้ตกหลุมรักสิ่งใหม่ๆ

โตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เล่าถึงที่มาของการเป็นนักอ่านว่า เนื่องจากแม่เป็นครู จึงมีชีวิตอยู่กับการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ส่วนพ่อก็อ่านหนังสือเยอะมาก ทั้งคู่อ่านหนังสือตั้งแต่สามก๊ก เพชรพระอุมา ไปจนถึงหนังสือของโสภาค สุวรรณ หรือทมยันตี จนที่บ้านมีหนังสือเป็นพันเล่ม

ส่วนตัวเองนั้น เล่มแรกที่แม่สอนให้อ่านเป็นนิทานเรื่องธัมเบลิน่า (Thumbelina) หรือ หนูน้อยนิด ต่อมาเมื่อโตขึ้นก็ได้ค้นพบโลกการอ่านของตัวเอง จากการเดินทางไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหน้ามหาวิทยาลัยมีร้านหนังสือชื่อ “แซงแซว” ในร้านนี้มีหนังสือมากมาย

แต่ไปสะดุดหนังสือที่โชว์เพียงแค่สันหนังสือที่ชื่อ "PETER CAMENZIND" เขียนโดย Hermann Hesse (เฮอร์มานน์ เฮสเส) ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตของปีเตอร์ คาเมนซินด์ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่ม กระทั่งถึงวัยกลางคน ด้วยภาษาที่งดงาม เห็นภาพวิถีชีวิตในชนบท กับมุมมองความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์และการหยั่งลึกเข้าไปในหัวใจของคน ถือเป็นหนังสือที่เปลี่ยนหมุดหมายการอ่านของตัวเองไปจากเดิม

ส่วนตัวมองว่างาน Book Fair ยังจำเป็น เพราะช่วยสร้างประสบการณ์ ให้ความรู้สึกการมีส่วนร่วมของผู้อ่าน ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเห็น ไปดูหนังสือเก่าที่น่าสนใจ ได้ไปตกหลุมรักกับสิ่งที่อาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน การเติมเต็มจินตนาการให้เรา ไม่คิดฝันว่าจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ผู้จัดก็จะมีวิธีการนำเสนอหนังสือต่างกันไป เราจึงไม่ได้มาเพื่ออ่าน แต่มาเพื่อเรียนรู้ มีประสบการณ์ เจอผู้คน สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรานั่งอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อแบบออนไลน์

พลังแห่งการอ่าน จุดประกายความฝันให้เป็นจริง

ด้าน สาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้งบริษัทโฆษณาชื่อดัง Phenomena (ฟีโนมีน่า) และเจ้าของแบรนด์ Propaganda (พรอพพาแกนดา) เล่าด้วยว่า เนื่องจากคุณแม่เป็นบรรณารักษ์ เลยทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ ๆ ก่อนใคร จนกลายเป็นนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก หนังสือเล่มแรกที่อ่านคือ "สิทธารถะ (Siddhartha)" เขียนโดยเฮอร์มานน์ เฮสเส จากนั้นก็อ่านหนังสือมาเรื่อยๆ

กระทั่งวันหนึ่งมีผู้แนะนำให้อ่าน "The Science Of Getting Rich" หรือ "ศาสตร์สู่ความร่ำรวย (แบบยั่งยืน)" หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดว่าถ้าคุณมีความปรารถนาหรือมุ่งมั่นอะไรสักอย่างขอให้จดจ่ออยู่กับตรงนั้นและจินตนาการว่าจะไปถึงได้จริง การจินตนาการภาพความสำเร็จเสมือนว่าเกิดขึ้นจริงแล้วให้ชัดเจนนั้นช่วยดึงดูดสิ่งที่เราต้องการให้เป็นจริงได้

พลังแห่งการอ่านในครั้งนั้น จุดประกายความฝัน และเป็นตัวช่วยดึงตัวตนของกราฟิกดิไซน์เนอร์ธรรมดาคนหนึ่งอย่างเขาเข้าสู่วงการการเป็นผู้กำกับหนังโฆษณา

ส่วนอีกเล่มที่สร้างแรงบันดาลใจคือ "ONE + ONE = THREE" พูดถึงการต่อจุดองค์ความรู้ของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ด้วยความเชื่อมั่นว่าหนึ่งจุดเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์และเชื่อมต่อกันได้ จนกลายเป็นนวัตกรรมของไอโฟน (iPhone) อย่างทุกวันนี้   และทั้งหมดนี้ทำให้เขาพบว่าหนังสือหลายเล่มนั้นช่างทรงพลังเหลือเกิน

 

หนังสือเปลี่ยนแปลงชีวิต

ขณะที่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ซึ่งกำลังขับเคลื่อน 2 โครงการสำคัญด้านการอ่าน คือ อ่านเปลี่ยนโลก และ อ่านปั้นฝัน เล่าว่า ที่บ้านไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือ แต่ตัวเองที่เติบโตมากับนิยายอาชญากรรมสืบสวนสอบสวนของ "อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie)" ทำให้กลายเป็นคนที่ช่างคิดช่างถาม ช่างสงสัย

ที่สำคัญคือพ่อกับแม่ไม่เคยปิดกั้นเรื่องการอ่านเลย จะไปเลือกอ่านหนังสือแบบใดก็ได้ ภายใต้เงินที่บริหารจัดการเอง ทำให้ค่อย ๆ ก่อร่างความเป็นตัวเองขึ้นมา โดยหนังสือแต่ละเล่มเมื่อย้อนกลับไปอ่านใหม่ก็จะให้บทเรียนหรือแง่คิดที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัยที่เราอ่าน 

เล่มที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือ สร้าง Impact ใหญ่ ในชีวิต คือ "MOTHER TONGUE" ของบิล ไบรสัน (Bill Bryson) เป็นหนังสือเกี่ยวกับที่มาที่ไปและประวัติศาสตร์ของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตและสัมพันธ์กับเรื่องราวของมนุษย์ เป็นหนังสือที่สร้างความตื่นเต้นและประหลาดใจได้หลายครั้งที่อ่าน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งได้แนวคิดเรื่องพื้นฐานวิธีคิดในการทำงาน มุมมองในการทำงานจากภาพกว้างแล้วค่อย ๆ ย่อยลงมาอย่างละเอียด สำคัญที่สุดคือการเกิดความเข้าใจว่า ความรู้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดกาล เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งหล่อหลอมให้กลายเป็นครูอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ถือเป็นเล่มที่ปูพื้นฐานกระบวนการวิธีคิดของการทำงาน ส่งผลต่อการเลือกหนังสือเล่มอื่นด้วย

 

การอ่านเป็นสิ่งสำคัญที่โลกออนไลน์แทนกันไม่ได้

ส่วน ทิพย์สุดา สินชวาลวัมน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เริ่มเข้าสู่โลกหนังสือตั้งแต่ยังเด็กด้วย "ขายหัวเราะ" ที่รอให้คุณแม่อ่านให้ฟังและนับวันรอที่จะอ่านหนังสือออก พออ่านได้เองก็เริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนและขยายมิติการอ่านไปสู่หมวดอื่น ๆ อย่าง "คู่สร้างคู่สม" จนติดเป็นนิสัยชอบอ่าน

ส่วนหนังสือที่อยากแนะนำให้คนได้อ่านคือ "The Bullet Journal Method : วิถีบันทึกแบบบูโจ" เขียนโดย ไรเดอร์ แคร์รอลล์ (Ryder Carroll) เพราะ หนังสือช่วยอธิบายวิธีการจดบันทึกแบบบูโจได้อย่างชัดเจนเข้าใจง่าย ช่วยแก้ปัญหาการจดบันทึกได้เป็นอย่างดี

ทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่าในโลกออนไลน์จะมีคำตอบเรื่องต่าง ๆ ให้เรา แต่การอ่านคือการขัดเกลาจิตใจ มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้อง และเชื่อว่าการอ่านหนังสือยังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน

 

หนังสือตอบโจทย์ทุกมุมของชีวิต

ขณะเดียวกัน พลเมืองนักอ่านรุ่นใหม่ ก็มีมุมมองจากหนังสือเล่มที่อ่านได้อย่างน่าสนใจ เช่น จิตรพล โพธิวิหค ที่แม้การเรียนจะทำให้อ่านแต่ตำราแพทย์อย่างหนักแล้ว ก็พบว่าหนังสือที่หลายคนควรได้อ่านคือ "วิธีชนะมิตรและจูงใจคน" เพราะอย่างแพทย์เอง ก็ควรรู้วิธีการสื่อสารกับคนไข้และญาติ

ส่วน ทวินันท์ อนุกูลประเสริฐ ที่แม้จะเป็นหนุ่มรุ่นใหม่อ่านหนังสือผ่านแทบเล็ต แต่ก็บอกว่าหนังสือที่ชอบมากคือ "เพชรพระอุมา" ที่คุณพ่อเคยอ่านให้ฟังก่อนนอน 

ด้าน อาเชน ไอย์ดึน ก็เริ่มอ่านหนังสือจบจริงจังเป็นครั้งแรกจากเรื่อง "The Hunger Game" ส่วน ณัฎฐ์ฐชัย บุญประเสริฐ ก็ใช้เวลาคลายเครียดจากการเรียนด้วยการอ่านการ์ตูนผ่านแทบเล็ต

ทั้งหมดนี้ต่างเป็นลิสต์หนังสือที่เป็นตัวจุดประกายความเป็นตัวตนของเหล่าพลเมืองนักอ่าน ซึ่งทุกคนสามารถไปตามหาหนังสือเหล่านี้ หรือไปเดินดูโปรโมชันมากมายได้ที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ได้ ติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Thai Book Fair 

 

จุดเช็กอิน "เบตง" แหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen สัมผัสทะเลหมอก "อัยเยอร์เวง"

เที่ยว “ทุ่งนามอญ” เดินสะพานไม้ชมทุ่งนา กินข้าวแช่สูตรโบราณ

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ