13 ก.พ. “วันคเณศชยันตี 2567” วันเกิดพระพิฆเนศ เช็กวิธีไหว้-ของไหว้ ที่นี่!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




13 ก.พ. “วันคเณศชยันตี 2567” วันคล้ายวันประสูติพระพิฆเนศ พร้อมเปิดเรื่องเล่าขานที่ทำให้หลายคนหายสับสนกับวันคเณศจตุรถี และเผยวิธีไหว้ ขอพรให้สมหวัง

13 กุมภาพันธ์ “วันรักนกเงือก” ตัวแทนแห่งรักแท้และความสมบูรณ์ของผืนป่า

พระแม่ลักษมีเป็นอะไรกับพระพิฆเนศ ไขข้อสงสัยทำไมคนนิยมบูชาคู่กัน

“คเณศชยันตี” เป็นเทศกาลหนึ่งในศาสนาฮินดู ที่ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของพระพิฆเนศ มหาเทพแห่งศิลปะ สติปัญญา และความสำเร็จ ซึ่งในปีนี้ตามปฏิทินฮินดูตรงกับ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567

สมัยก่อนผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์พระคเณศ จะนำเอาดินผสมเครื่องหอมปั้นเป็นองค์พระคเณศขึ้นมาเพื่อบูชา และจะถวายขนมลาดู (ขนมโปรดของพระองค์) พร้อมกับสวดมนต์ โดยจะทำการบูชาอยู่ทั้งหมด 4 วันจนครบ จึงนำเอาเทวรูปที่ปั้นมานั้นไปลอยส่งเสด็จ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีบูชาพระคเณศในช่วงคเณศชยันตี

 

13 ก.พ. “คเณศชยันตี 2567” วันเกิดพระพิฆเนศ เช็กวิธีไหว้-ของไหว้ ขอพรให้สมหวัง ช่างภาพพีพีทีวี
ประชาชนไหว้พระพิฆเนศ

อย่างไรก็ตามด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยน วิธีการกราบสักการะบูชาองค์พระคเณศในวันสำคัญนี้จึงเปลี่ยนตามไปด้วย แต่แก่นแท้ของการกราบสักการะบูชานี้คือเพื่อแสดงความเคารพและนำมาซึ่งความสงบสู่จิตใจ อันเป็นการสร้างสติปัญญาและสิริมงคลให้กับชีวิต ดังนั้นแล้วต้องทำอย่างไร เราได้นำข้อมูลมาฝากกันดังนี้

13 ก.พ. “คเณศชยันตี 2567” วันเกิดพระพิฆเนศ เช็กวิธีไหว้-ของไหว้ ขอพรให้สมหวัง ช่างภาพพีพีทีวี
พระพิฆเนศ

“วันคเณศชยันตี-คเณศจตุรถี” วันประสูติที่เหมือนกัน แต่ต่างเวลา

ก่อนอื่น เชื่อว่าผู้เคารพและศรัทธาต่อพระพิฆเนศ อาจสงสัยว่าวันประสธูติของพระคเณศ จะมี 2 วันที่น่าจดจำในการบูชา คือ “วันคเณศชยันตี” และ “วันคเณศจตุรถี” แท้จริงแล้วในวันสำคัญทั้งสองนี้ เป็นวันประสูติเหมือนกันจริง แต่ต่างกันที่ช่วงเวลา โดยมีเรื่องเล่าขานว่า

วันคเณศชยันตี จะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ ตามปฏิทินฮินดู ในช่วงกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระพิฆเนศ แต่องค์ท่านต้องอวตารมาปราบอสูรสองพี่น้องผู้มีฤทธิ์มาก นามว่า “เทวานฺตกะ” และ “นรานฺตกะ”

ซึ่งทั้งสองได้บำเพ็ญพรตจนได้รับพรจากพระศิวะว่า ขอไม่ให้ตายด้วยน้ำมือเทวดา กษัตริย์ ยักษ์ รากษัส ปิศาจ มนุษย์นาค คนธรรพ์ นางอัปสร กินนร รวมไปถึงศาสตราวุธคมหอกคมดาบทุกชนิด สัตว์ร้ายในป่า สัตว์ที่เลี้ยงตามหมู่บ้าน ภูติผีดาวนพเคราะห์ ดาวนักษัตร อีกทั้งไม่ตายจากโรคภัยไข้เจ็บ พยาธิและแมลงทุกชนิด และ ไม่มีวันตายทั้งในกลางวันและกลางคืน

หลังอสูรทั้งสองได้รับพร ก็กลับกลายเป็นคนเกเร เข้าทำสงครามบุกยึดโลกต่างๆ จนไปถึงเทวโลก เทวดาและฤาษี ต้องหลบซ่อนไปอยู่ในโถงถ้ำ นานวันเข้าฝ่ายกองทัพอสูรได้ทำลายศาลาและสถานที่บูชาเทพบนโลกจนเกือบหมดสิ้น เมื่อเทวดาเริ่มอ่อนพลังลงเพราะไม่มีพละกำลัง ไม่การบูชาไม่มีการท่องมนตร์ 

ฝ่ายพรหมเทพจึงดำริถึงองค์พระมหาคณาธิปติ (พระพิฆเนศ) อวตาร มาแก้ไขสถานการณ์ได้ในที่สุด ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 10 ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมและกันยายน

คาถาไหว้พระพิฆเนศ

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” (สวด 9 หรือ 108 จบ)

“โอม กัง คณปัตเย นะโม นะมะหะ

ศรี สิทธิวินายักกา นะโม นะมะหะ

อัสถะวินายักกา นะโม นะมะหะ

คณปติ บับปา โมรยา”

จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานขอพร แล้วจบด้วย “โอม ศานติ ศานติ ศานติ” เพื่อแผ่เมตตาให้ผู้อื่น

เครื่องสักการะบูชา

  • ประทีป (เทียน)
  • กำยาน/ธูป (กี่ดอกก็ได้ เพราะกลิ่นของกำยานและธูป เป็นเพียงการสื่อจิตอธิษฐานไปยังองค์มหาเทพ)
  • ดอกไม้/พวงมาลัย
  • ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า, มะพร้าวอ่อน, ส้ม, แอปเปิ้ล หรือ องุ่น เป็นต้น
  • ปัญจอมฤต (น้ำมงคล 5 อย่าง) ได้แก่ น้ำสะอาด, นมจืด, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย และ เนย (ฆี)
  • ขนม เช่น ขนมลาดู ขนมโมทกะ
  • ห้ามถวายเนื้อสัตว์

13 ก.พ. “คเณศชยันตี 2567” วันเกิดพระพิฆเนศ เช็กวิธีไหว้-ของไหว้ ขอพรให้สมหวัง ช่างภาพพีพีทีวี
ของไหว้พระพิฆเนศ

ขั้นตอนการบูชา

1.) ตื่นเช้ามาให้ยิ้มแย้ม

2.) แนะนำให้ใส่เสื้อสีแดง (ถ้ามี)

3.) จุดประทีปและธูปบูชาหน้าพระพิฆเนศ

4.) สวดมนตรา 9 หรือ 108 จบ

5.) ถวายเครื่องสักการะบูชา (ตามกำลัง)

6.) เก็บของไหว้ไว้รับประทาน หรือนำไปแจกจ่ายให้กับคนที่เรารัก

7.) ทำอารตี (พิธีบูชาไฟ) ในช่วงเย็น เพื่อรับความสงบในจิตใจ

8.) การอาบน้ำในวันคเณศชยันตี แล้วสวดถึงพระองค์ไปด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสงบในจิตใจและความเจริญในหน้าที่การงาน

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการกราบสักการะบูชาพระพิฆเนศ ต้องทำจิตใจให้สะอาด ปราศจากกิเลส ละทิ้งความโกรธ ความหลง ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ นอกจากจะได้รับอานิสงส์ดีๆ แล้ว ยังทำให้มีสติช่วยในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง

รวมสถานที่ไหว้พระพิฆเนศ

  1. เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกรัชดา – ห้วยขวาง กทม.
  2. วัดวิษณุ (สมาคมฮินดูธรรมสภา) กทม.
  3. วัดเทพมณเฑียร (สมาคมฮินดูสมาช) กทม.
  4. เทวาลัยพระพิฆเนศ บางใหญ่ จ.นนทบุรี
  5. วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา
  6. วัดโพรงอากาศ จ.ฉะเชิงเทรา
  7. อุทยานพระพิฆเนศองค์ยืน คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา
  8. อุทยานพระพิฆเนศ จ.นครนายก
  9. พิฆเนศวรเทวาลัย จ.เชียงใหม่

9 สถานที่ไหว้ “พระพิฆเนศ” ยอดนิยมในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ปี 2567 เจอ 5 สัปดาห์ทุกเดือน แถมบางเดือนยังยาว 6 สัปดาห์!

สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตามรอยซอฟต์พาวเวอร์ เปิดตัว กางเกง “กะปิปลาร้า”

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ ไวทิทรศน

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ