บุคคลแห่งปี 2564 : เปิดแนวคิด ผู้คิดค้นแอปฯ “เป๋าตัง” แพลตฟอร์มแห่งปี64


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ก้าวสู่ Cashless society ในไทยไม่ใช่เรื่องง่ายตลอดช่วงเวลา 2 ปี ของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศไทย ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จากการหยุดชะงักของการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นระยะๆ แต่ในเวลาเดียวกันช่วงเวลาที่ผ่านมานี้เอง กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่คนไทยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรูปแบบในการดำเนินชีวิต หนึ่งในนั้น คือ การปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless society

ซึ่งการปรับตัวดังกล่าว มีปัจจัยที่มาช่วยสนับสนุน และเป็นตัวเร่งมากขึ้น คือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ผ่านนโยบายการคลังของรัฐบาล ด้วยการใช้เครื่องมืออย่าง แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างสูงสุด ในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีโครงการ “คนละครึ่ง”

 แต่น้อยคนจะทราบว่า ทีมนักพัฒนาที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการปลุกปั้นให้ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นที่นิยม และสามารถเข้าถึงคนทุกระดับและประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ คือใคร

ความหวัง "เมตาเวิร์ส" กับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย!

ส่องประวัติ "พิมรี่พาย" แม่ค้าออนไลน์ ที่ปีนี้ขยับทำอะไรก็เป็นข่าวไปเสียหมด

ซึ่งทีมข่าว PPTV จะพาทุกท่านไปรู้จักกับบุคคลท่านนี้ให้มากขึ้น “ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้คิดค้นแอปฯ เป๋าตัง ”

 จุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้ามาร่วมทีมสร้างแอปฯ “เป๋าตัง”

คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้คิดค้นแอปฯ เป๋าตัง เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเริ่มเข้ามาช่วยรัฐบาลในการวางระบบการรองรับผู้ใช้งานของโครงการ ชิมช้อปใช้ ในช่วงปลายปี 2562 หลังจากนั้นก็เป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มระบาดมากขึ้น ทำให้เกิดโครงการเยียวยาและกระตุ้นกำลังซื้อตามมาอีกหลายโครงการ ทั้ง เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ม.33 เรารักกัน และแพลตฟอร์มของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนา แก้ปัญหา ปรับแต่งระบบการรองรับผู้ใช้งานของทุกโครงการ เพื่อให้การใช้งานคล่องตัวมากที่สุด ส่วนโครงการที่สร้างความนิยมจนทำให้ แอปฯ เป๋าตัง มีผู้ใช้บริการสูงสุดมากกว่า 30 ล้านคน คือ โครงการ คนละครึ่ง

ไทยนำเข้า "โอมิครอน" มากกว่า "เดลตา" เตือนรับมือระบาดในประเทศ

 ประกอบกับก่อนหน้านี้ที่ คุณสมคิด ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนและสังเกตเห็นว่าคนจีนสามารถใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าประเทศไทยสามารถทำได้บ้าง คงจะดีไม่น้อย จากแนวความคิดตั้งต้นนี้ ประจวบเหมาะกับรูปแบบการใช้งานของโครงการ คนละครึ่ง บนแอปฯเป๋าตังที่ดึงดูดให้คนเข้ามาใช้สิทธิ์ เขาจึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้แอปฯ เป๋าตัง ได้รับการดาวน์โหลดและถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆในช่วงปีที่ผ่านมา

 แอปฯ เป๋าตังค์ ตอบโจทย์ 3 ส่วน ทั้ง ประชาชน-ผู้ค้า-ประเทศ

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาใช้โครงการ “คนละครึ่ง” บนแอปฯ เป๋าตังค์ เพราะการใช้งานตอบโจทย์ทั้ง 3 ส่วน คือ

1.ประชาชน หรือ ผู้ใช้งาน ไม่ว่าประกอบการอาชีพอะไร อายุเท่าไหร่ อยู่ที่จังหวัดไหน ก็ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้สามารถดาวน์โหลดแอปฯ และแสกนใช้งานเพื่อให้รัฐบาลช่วยจ่ายได้อย่างง่ายๆ รวมถึงการออกแบบการใช้จ่ายที่รัฐช่วยจ่าย50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน สามารถช่วยลดค่าครองชีพของผู้ใช้งานได้ตรงจุด

2.ผู้ค้า ทั้งพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ร้านค้าข้างทาง ร้านขายของชำ ไปจนถึงศูนย์อาหารและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถรับอานิสงส์จากโครงการคนละครึ่งได้ ประกอบกับกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลออกมาช่วยใช้จ่ายสูงสุด 150 บาท และจำกัดไม่ให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เข้าโครงการ ทำให้เงินจำนวนนี้สามารถเข้าถึงผู้ค้ารายย่อยได้อย่างแท้จริง ซึ่งร้านที่รับโครงการคนละครึ่งสามารถขายได้มากขึ้น 2-3เท่า และวันถัดไปรัฐบาลก็จะโอนเงินส่วนต่าง50% ให้ผู้ค้าเพื่อนำกระแสเงินสดไปหมุนเวียนในธุรกิจได้อย่างคล่องตัว

3.ประเทศได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในชุมชนจากโครงการ คนละครึ่ง ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนมากนิยมชะลอการใช้จ่าย เพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19

 คาดอนาคต แอปฯ เป๋าตัง เป็นพื้นที่ของทุกคน

แม้ว่าวันนี้ คุณสมคิด อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้นั่งทำหน้าที่ประจำเพื่อคอยเป็นแม่ทัพในการปรับแต่งแอปฯ เป๋าตังแล้ว แต่สถาปัตยกรรมที่ได้ออกแบบไว้ เขามองว่า ด้วยข้อดีของแอปฯ เป๋าตัง ที่ไม่ใช่เป็นของเอกชนแบบ 100% จึงสามารถที่จะทำเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนตัวเล็ก ให้กับสังคมและสามารถขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเพิ่มการบริการจากภาครัฐ ยังสามารถเพิ่มการบริการของเอกชน หรือ การบริการของสตาร์ทอัพเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มได้ และหากวิธีคิดแบบนี้สามารถทำได้มากขึ้นในแพลตฟอร์มอื่นๆ และนึกถึงผลประโยชน์ของคนตัวเล็กเป็นหลักก็จะทำให้เป็นเหมือนแรงหนุนให้คนตัวเล็กมีโอกาสในการเข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่ได้มากขึ้นด้วย

อัปเดต! ไทยพบ "โอมิครอน" สะสมแล้ว 514 ราย ในจำนวนนี้มี "ปอดอักเสบ"

วิสัยทัศน์และผลงานของ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ทำให้ PPTV ยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 บุคคลแห่งปี 2564 รู้สึกอย่างไร

 “ผมไม่ได้คิดว่าการทำงานแต่ละชิ้น จะทำเพื่อหวังรางวัล แต่ทำงานเพราะว่าเล็งเห็นว่างานที่ออกมามันจะเป็นประโยชน์ แล้วก็เกิดเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ แล้วได้ช่วยเหลือคนที่เขาขาดโอกาส ผมคิดว่าตรงนั้น เป็นประเด็นสำคัญ พอได้บรรลุตรงนั้นแล้ว เราก็รู้สึกว่าเราก็มีความภูมิใจ  ส่วนรางวัลที่พีพีทีวีมอบให้ก็ ขอบคุณเป็นอย่างมากนะครับ อันนี้ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ และ ขอบคุณพีพีทีวีที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประโยชน์ให้กับคนตัวเล็กๆ“ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ กล่าวปิดท้าย

เลือกตั้ง2566_Bottom เลือกตั้ง2566_Bottom

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ไอที

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ