มุมมองคนทำ "เทคโนโลยีเสมือนจริง" โอกาสและอนาคตในโลกใหม่ “เมตาเวิร์ส”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับคนไทยที่ทำงานด้าน Virtual โอกาสและอนาคตที่เขาเห็นใน “เมตาเวิร์ส” เป็นอย่างไร ไปไกลได้ขนาดไหน?

ปี 2021 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปยังทั้งโลก โดยเฉพาะเหล่าผู้ที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยี นั่นคือก้าวสำคัญของบริษัท “เฟซบุ๊ก” ที่ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมตา (Meta)” พร้อมคำประกาศว่าจะมุ่งมั่นสร้างโลก “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” ขึ้นมา

เมตาเวิร์สอาจเป็นคำใหม่ที่หลายคนไม่คุ้นชิน มันเป็นคำที่ นีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) เขียนไว้ในนิยายวิทยาศาสตร์ “Snow Crash” เมื่อปี 1992 โดยพูดถึงโลกเสมือนจริงที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านเทคโนโลยี

คู่รักไอทีอินเดียเตรียมแต่งงานในเมตาเวิร์ส-เชิญแขกอวตาร

ความหวัง "เมตาเวิร์ส" กับอนาคตที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย!

ราชบัณฑิตยสภามีมติ “เมตาเวิร์ส” ให้ใช้คำไทยว่า “จักรวาลนฤมิต”

เมื่อพูดถึงคำว่า “เสมือนจริง” หรือ “Virtual” นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงมาพูดคุยกับคนไทยที่ทำงานในด้านนี้ นั่นคือ คุณอู๊ด ณัฏฐ์วรจิต อุดมลิขิตวงศ์ ซีอีโอของ Real Bangkok สตาร์ทอัปรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ที่นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ

คุณณัฏฐ์วรจิตเล่าว่า เดิมทีเขาทำงานสร้างสรรค์โฆษณา ซีรีส์ วิดีโอคอนเทนต์ต่าง ๆ มาก่อน แต่ในช่วงวิกฤตที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำงานออกกองถ่ายในโลเคชันจริงต้องหยุดชะงักลงไป เขาจึงพยายามหาทางว่า ทำอย่างไร จึงจะได้กลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง

“ในตอนนั้นด้วยสถานการณ์โควิด-19 เราออกกองไม่ได้ เราก็ลองหาวิธีว่า เราจะถ่ายทำกันยังไง ในแบ็กกราวด์ที่อยากได้ ก็เลยมีวิธีการของ VR เข้ามา เป็นวิธีการถ่ายเสมือนจริง เรียกว่าเป็น Virtual Production ซึ่งเราก็ยังใหม่มาก ตอนนั้นเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับทั้งโลกมาก เพราะอย่างในต่างประเทศที่ใช้ ก็จะเป็นทีมระดับโลกของดิสนีย์ ในการทำซีรีส์เรื่อง The Mandalorian (ซีรีส์ภาคแยกของภาพยนตร์ Star Wars)” คุณณัฏฐ์วรจิตบอก

เมื่อพบคำตอบว่า ต่างประเทศสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างไรทั้งที่ออกไปถ่ายทำข้างนอกไม่ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจลองผลิตผลงานแบบเสมือนจริง หรือ Virtual Production กันบ้าง

โดยผลงานชิ้นแรกที่ถ่ายทำแบบ Virtual Production ของพวกเขา คือโฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เรามักเห็นการถ่ายทำโฆษณารถยนต์ด้วยการนำรถออกไปแล่นจริงบนถนนหรือโลเคชันที่เตรียมไว้ แต่เมื่อไม่สามารถถ่ายทำข้างนอกได้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทีมงาน Real Bangkok จึงสร้างฉากเสมือนขึ้นมา แล้วฉายบนจอ LED ขนาดใหญ่รอบทิศทาง เพื่อสร้างภาพ “เสมือน” ว่ารถกำลังวิ่งอยู่บนถนนในเมืองของจริง

คำว่า Virtual หรือเสมือนจริง จึงเป็นการจำลองความสมจริงหรือเหนือจริงต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นแม้ในความเป็นจริงแล้วในพื้นที่นั้น ๆ อาจจะไม่มีอะไรอยู่เลยก็ตาม ไม่จำเป็นต้องออกไปหาโลเคชันที่ต้องการ แต่สร้างฉากที่ต้องการขึ้นมาถ่ายทำเองได้เลย

“อันนั้นเหมือนเป็นงานแรกที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ขยายมาเป็น VR มาเป็น Virtual Event และ Virtual Content ต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมา … ตอนแรกมันเป็นแค่ทางเลือกที่เราลองทำ แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเป็นเรื่องราวใหม่ เป็นเทคนิคใหม่ จากทางเลือกกลายเป็นลูกเล่นใหม่ เราพัฒนาให้มันเป็นการเล่าเรื่องที่ใส่กิมมิก สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้าหรือผู้ชมมากขึ้น” คุณณัฏฐ์วรจิตกล่าว

ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคตของโลกเมตาเวิร์ส

นับตั้งแต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเมตา ประกาศก้าวสู่โลกเมตาเวิร์ส เราจะพบว่า มีหลายองค์กรหน่วยงานรวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ที่ก้าวออกมาตอบรับ และเกิดกระแสการออกมาเอ่ยอ้างการเป็นเมตาเวิร์ส ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทัวร์ออนไลน์ พาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ เช่น ปิระมิดอียิปต์ จนถึงวัดธรรมกายของไทย

แต่ส่วนตัวคุณณัฏฐ์วรจิตมองว่า เส้นแบ่งของเมตาเวิร์สกับคอนเทนต์ 3 มิติทั่วไปนั้นยังเบลออยู่ และเกณฑ์สำคัญที่อาจใช้แบ่งได้ คือเรื่องของการ “มีปฏิสัมพันธ์” ระหว่างบุคคลในโลกเสมือน

“มันต้องมีตัวอวาตาร์ (Avatar) ทำอะไรด้วยกันได้ ปฏิสัมพันธ์กันได้ อันนั้นคือฟีลจริง ๆ ของเมตาเวิร์ส ฉะนั้นอย่างธรรมกาย หรือนิทรรศการหรือทัวร์ออนไลน์ 360 องศาที่เป็น 3 มิติ มันก็อาจจะยังเป็นแค่คอนเทนต์ 3 มิติอยู่ อาจจะไม่ถึงขั้นเมตาเวิร์ส แต่ถ้าเกิดเขานิยามว่าเมตาเวิร์สคือพื้นที่เสมือน (Virtual Space) มันก็ใช่ ดังนั้นเส้นแบ่งมันยังไม่ชัดเจน” เขาบอก

ซีอีโอของ Real Bangkok ยังมองว่า เรื่องของเทคโนโลยีเสมือนจริง กำลังจะกลายเป็นอนาคตที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยโอกาสของหลายวงการ เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง

คุณณัฏฐ์วรจิตยกตัวอย่าง The Mandalorian โดยอธิบายว่า ในซีรีส์นี้ เรื่องราวเกิดขึ้นบนดาวแห่งหนึ่งในจักรวาล Star Wars ทีมสร้างสรรค์ซีรีส์ก็ทำจอ LED ฉายฉากบนดาวล้อม พื้นหรืออาร์ตต่าง ๆ ก็ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด เมื่อมีฉากหลังสำเร็จ มันช่วยร่นเวลาในการทำ Post Production หรือการตัดต่อ ใส่คอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) ต่าง ๆ ได้ เพราะภาพต่าง ๆ เหมือนเป็นเนื้อเดียวกันแต่แรก

“ในอนาคตมองว่า พอมันเป็นเบสของการทำซีน VR ซีนที่เราใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ เราอาจจะมาทำเป็นเมตาเวิร์สได้ ว่าเป็นดาวนั้น ซีนนั้น เพราะวัตถุดิบมันเป็นซีน 3 มิติอยู่แล้ว มันก็ต่อยอดไปได้เป็นเครื่องเล่นในสวนสนุก เหมือนไปอยู่ในดาวดวงนั้น … หรือเราสามารถอยู่ในบ้าน เดิน แล้วเจอดาราอยู่ในบ้านเราได้ มันจะเป็นโลกคู่ขนาน” คุณณัฏฐ์วรจิตบอก

ซึ่งความเป็นไปได้ดังกล่าวเป็นไปได้สูงมาก เพราะซีอีโอของดิสนีย์เคยออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะพาดิสนีย์ก้าวเข้าสู่เมตาเวิร์ส โดยจะมุ่งสร้างสรรค์ “คอนเทนต์ 3 มิติ” ที่จะทำให้เกิดการเล่าเรื่องรูปแบบใหม่ ๆ ให้ผู้ชมได้เสมือนเข้าไปอยู่ในโลกของเรื่องราวนั้น ๆ ทั้งที่นั่งอยู่ที่บ้าน

คุณณัฏฐ์วรจิตบอกว่า โลกเสมือนในปัจจุบันมักมาในรูปแบบ VR คือเราต้องไปในโลกนั้น ใส่แว่นเข้าไป และมีรูปแบบ AR (Augmented Reality) หรือการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือนเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่น Pokemon GO เกมดังในโทรศัพท์มือถือที่ทำให้คนทั่วโลกนิยมคลั่งไคล้มาแล้ว

แต่ "ขั้นเหนือกว่า" ของโลกเสมือนที่เขามองว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ MR (Mixed Reality) หรือการทำให้โลกแห่งความจริงและโลกเสมือนผสมผสานทับซ้อนกัน

“สิ่งที่จะเป็นกุญแจสำคัญคือ MR Glass ซึ่งหลายค่ายพยายามพัฒนา และคิดว่าจะมีแผนปล่อยในปีนี้ อย่างแอปเปิล ซัมซุง ก็พูดถึง MR Glass มากขึ้น เมื่อไหร่ที่มันมา คือเราใส่แว่นปุ๊บ อย่าง Pokemon GO ที่เคยเล่นในโทรศัพท์ เราจะเห็นผ่านแว่นนี้เลย และสามารถปฏิสัมพันธ์กับเขาได้ พอใส่แว่นปุ๊บ มันจะเป็นโลกคู่ขนานเลย เดินไปในสยามก็จะเห็นตัวการ์ตูน สิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นแน่นอน” คุณณัฏฐ์วรจิตบอก

นั่นหมายความว่า เมื่อใดที่ยุคเปลี่ยนผ่านอุปกรณ์เกิดขึ้น จากยุคโทรศัพท์คนอาจจะใช้โทรศัพท์น้อยลง ไปอยู่กับแว่นมากขึ้น เมื่อคนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ตามมาคืออุตสาหกรรมโฆษณา อุตสาหกรรมบันเทิง ก็จะไปเกิดบนโลกเสมือน “เพราะเขาก็อยากให้ผู้ซื้อผู้ชมได้เห็นผลิตภัณฑ์สินค้าของเขาในแบบใหม่ ๆ มากขึ้น ในการนำเสนอที่ไม่ใช่โฆษณาอย่างเดียว ไม่ใช่การดูในทีวีหรือโดนยิงแอดมาเจอ อาจจะเดินเข้าไปในสยาม แล้วป็อปอัปขึ้นมา มันจะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และสนุกขึ้น”

นอกจากนี้ เขามองว่า โลกของเมตาเวิร์สจะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ของวงการเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีด้วย “เงินดิจิทัล วันหนึ่งมันจะเป็นเรื่องเดียวกัน มันอาจจะกลายเป็นโลกคู่ขนานก็ได้ เงินที่เราใช้ทุกวันนี้ ในอีกโลกหนึ่งก็อาจจะต้องมีเงินอีกสกุลหนึ่ง … นี่คือการสร้างโลกใหม่โดยสมบูรณ์แบบ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

เมื่อถามว่า โลกกำลังจะกลายเป็นแบบภาพยนตร์ดังอย่าง Ready Player One หรือไม่ คำตอบที่ได้รับคือ “ใช่”

“โลกกำลังกลายเป็นแบบ Ready Player One ถ้าเราอยู่ในเฟซบุ๊กตอนนี้นานเท่าไร อีกภายใน 5 ปีเราจะอยู่ในโลกเสมือนจริงนานเท่านั้นหรือนานกว่านั้น มันจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนด้วย” คุณณัฏฐ์วรจิตกล่าว

เขาเสริมว่า ในช่วงโควิด-19 หลายคนต้องทำงานแบบ Work From Home ซึ่งมีแพลตฟอร์มมารองรับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Team ที่เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ เหล่านี้เป็นแพลตฟอร์ม 2 มิติ แต่ในอนาคตมันจะเป็น 3 มิติ

“ในอนาคตนอกจากเราจะโผล่หน้ามาคุยกันอย่างเดียว อาจจะทำกิจกรรมอะไรร่วมกันได้เลย จริง ๆ เมตาเวิร์สเหมือนเป็นคำใหม่ของ VR แต่มันเป็นเหมือนชุมชน (Community) ที่ต่อยอดมาจากเทคโนโลยี VR นั่นเอง” เขาบอก

ซีอีโอ Real Bangkok กล่าวอีกว่า การจะเตะฟุตบอล เล่นบาสเกตบอลในเมตาเวิร์ส สามารถเกิดขึ้นได้ อยู่ที่อุปกรณ์ “อย่าง VR ตอนนี้มันเป็นเหมือนเมาส์ 2 อันแล้วก็แว่น แต่อย่างใน Ready Player One มันคือชุดทั้งชุด มันมีชุดที่สามารถให้ความรู้สึกสมจริงเวลาสัมผัส จับนั่นจับนี่ได้ ถามว่าชุดแบบนั้นมีมั้ย มี โลกเราตอนนี้มี Tesla Suit แล้ว”

เท่ากับว่า ในอนาคต เรื่องของความสัมพันธ์ระยะไกล จะไม่ใช่แค่การแชตพูดคุยหรือวิดีโอคอลอีกแล้ว การกอด จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์โดยที่คน 2 คนอยู่ห่างกันครึ่งโลก จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

“ถ้ามันเป็นชุดสูท เป็นอะไรที่ตอบสนองร่างกายเราได้ มันจะเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าจินตนาการแล้ว มันจะสัมผัสได้ขึ้นมาเลย ซึ่งโลกมันก็พยายามไปให้ถึงแบบนั้น” คุณณัฏฐ์วรจิตกล่าว

โอกาสที่เกิดขึ้นจากเทรนด์โลกเสมือนและเมตาเวิร์ส

คุณณัฏฐ์วรจิตกล่าวว่า กระแสการสร้างโลกเสมือนจริงและเมตาเวิร์สเป็นยิ่งกว่าโอกาสของคนทำ Virtual

“มันเป็นโอกาสของคนที่มีพื้นฐานอยากเล่าเรื่อง เขาจะมีพื้นที่เล่าเรื่องมากขึ้น มีพื้นที่ปลดปล่อยผลงานมากขึ้น รวมไปถึงคนทำ Virtual Development ทุกวันนี้จะได้ยินการพูดถึงทีมพัฒนา คนเขียนโค้ด โปรแกรมเมอร์ มากขึ้น คนเหล่านี้แหละที่จะมาผลักดันอุตสาหกรรมนี้ รวมเป็นถึงคนที่อยู่ในสายครีเอทีฟเดิม นักเล่าเรื่องเดิม นักทำโฆษณา ทำภาพยนตร์ ก็มาทำคอนเทนต์บนนั้นได้ ผมว่ามันเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกคน รวมถึงเพิ่มทางเลือกประสบการณ์ให้กับผู้ชม” เขาบอก

สำหรับประเทศไทยเอง ท่ามกลางภาพจำว่าเราดูไม่ใช่ประเทศที่ไฮเทคหรือมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง ซีอีโอ Real Bangkok กลับมองว่า ประเทศไทยกับต่างชาติมีความ “สูสี” กันในการพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริง

“ผมไม่มองว่าไทยจะล้าหลังกว่า … โปรดักชันเทคโนโลยีคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แล้วที่ผ่านมา ก็มีงานเสมือนจริงที่ต่างชาติต้องเข้ามาใช้บริการไทยเยอะอยู่เหมือนกัน” คุณณัฏฐ์วรจิตบอก

แต่หากถามว่าประเทศไทยตอนนี้ยังขาดอะไรอยู่หรือไม่ เขาบอกว่า เรายังขาดคนที่จะมารู้จักและสร้างคอนเทนต์เสมือนจริง Virtual Content อย่างเข้าใจจริง ๆ

“การคิดงานมันต่างกันมาก เหมือนผมมาจากโฆษณามาก่อน ผมก็จะคิดงานแบบ Storyboard ช่องต่อช่อง แต่พอมาคิดงาน 360 องศาอย่างนี้ เราสามารถคิดว่ารอบตัวมันจะเกิดอะไรขึ้นได้หมดเลย ไม่ได้จะเล่าแค่เป็นเส้นตรงต่อกัน”

ซึ่งคุณณัฏฐ์วรจิตเชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างบุคลากรในสายเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน “เมื่อก่อนคนอยากเป็นหมอ พยาบาล คุณครู แต่เด็ก ๆ ตอนนี้อยากเป็นยูทูบเบอร์ โปรแกรมเมอร์ มากขึ้น โลกมันเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ แสดงว่าอาชีพที่ทุกคนกำลังจะมองหลังจากนี้ มันคืออาชีพสายการผลิตบนโลกเสมือนจริง”

เราควรปรับตัวอย่างไรในโลกที่กำลังพลิกโฉมไปในแบบที่ไม่เคยเห็น?

เมื่อโลกกำลังเดินหน้าสู่ยุคของโลกเสมือนจริง สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือคนจะใกล้กันมากขึ้นแม้อยู่ห่างไกล ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น อยู่กับเพื่อนมากขึ้น และเชื่อว่าทุกคนทั่วโลกจะต้องปรับตัวเมื่อปรากฏการณ์ “โลกซ้อนโลก” เกิดขึ้นจริง

“เราก็อาจจะต้องปรับตัวเพื่อที่จะไปกับมัน หรืออยู่กับมันให้ได้ บางคนอาจจะปรับตัวเก่งจนสามารถสร้างรายได้จากมันได้ ผู้ประกอบการใหม่ ๆ ก็อาจจะมีพื้นที่เสมือนในการขายของ ตอนนี้เราอาจจะมีแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ หลังจากนี้เราอาจจะขายของบนเมตาเวิร์สก็ได้ อย่างสินค้าแบรนด์เนมตอนนี้ก็เริ่มไปวางขายบนเมตาเวิร์สแล้ว ซื้อของด้วยโทเคนแล้ว”

แต่โลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม คุณณัฏฐ์วรจิตบอกว่า อาจจะเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโยลี เพราะด้วยความต่างทางเศรษฐกิจสังคม อาจจะมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ต่างจากในช่วงโควิด-19 ซึ่งคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะมีความลำบากในการใช้ชีวิตบางอย่าง

“ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านั้นได้ เหมือนในปัจจุบันที่ไม่ใช่ทุกคนจะมีสมาร์ทโฟนแรง ๆ เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนจะซัพพอร์ต VR ได้ แต่มันก็จะเกิดการที่เทคโนโลยีถูกลงและดีขึ้น ฉะนั้นเขาอาจจะเข้าถึงได้ช้า แต่เข้าถึงแน่นอน”

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดปัญหาเรื่องการเสพติดโลกเสมือน ละทิ้งโลกแห่งความเป็นจริง

“คนไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย มันคือการสร้างตัวตนอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมา แต่อย่างเฟซบุ๊กอินสตาแกรมเราอาจจะไม่ได้หนีความเป็นตัวเองมาก … พอมาเป็น VR มันคือการสร้างตัวตนใหม่เลย ในชีวิตจริงเราเป็นยังไงเราสามารถเป็นอย่างอื่นได้เลยในนั้น เหมือน Ready Player One ที่ทุกคนจะมีอวาตาร์ของตัวเอง บางคนอาจจะเป็นผู้หญิงหวาน ๆ แต่พอบนเมตาเวิร์สอาจจะเป็นสาวเซ็กซี่ก็ได้ เขาอาจจะมีเพื่อนบนนั้นมากกว่าเพื่อนในชีวิตจริงก็ได้ มันก็มีโอกาสที่คนจะเสพติดตรงนั้นมากขึ้น”

ดังนั้น เรื่องของการแยกแยะและรู้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“โดยสรุป โลกกำลังไปในแบบที่ค่อนข้างสวยงาม ในฝั่งที่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนใหม่ ๆ การสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับคนที่ไม่เคยมีตัวตน แต่สุดท้ายเทคโนโลยีมีทั้งสองคม อยู่ที่ว่าเราเลือกใช้มันในแบบไหน” คุณณัฏฐ์วรจิตกล่าว

TOP ไอที
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ